ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ตลาดจับตาสุนทรพจน์ของเยลเลนในวันพรุ่งนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/11) ที่ 33.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 33.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3/11) บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3/11) กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดในเดือน ต.ค. โดยปรับตัวขึ้นเพียง 261,000 ตำแหน่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 310,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.1% ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ 4.2% คณะกรรมาธิการพิจารณาวิธีการจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎร (Committee on Ways and Means) จะเริ่มพิจารณามาตรการปฏิรูปภาษีฉบับใหม่ของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันนี้ (6/11) หลังจากที่สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้เปิดเผยรายละเอียดของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงสู่ระดับ 20% จากปัจจุบันที่ระดับ 35% ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะมีการปรัลลดจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษี จาก 7 ขั้น เหลือเพียง 4 ขั้น คือ 12%, 25%, 35% และ 39.6% นอกจากนี้ตลาดการเงินยังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กมีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ (6/11) ตามเวลาสหรัฐ และนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่วอชิงตันดีซี ในวันพรุ่งนี้ (7/11) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.15-33.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (6/11) นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2560 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 8% ตามทิศทางการค้าโลก หลังจากในเดือน ก.ย. 2560 ขยายตัว 12.2% มีมูลค่า 21,812 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และสูงสุดในรอบ 56 เดือน ขยายตัว 7.8% ส่งผลให้การส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 175,435 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ขณะที่ในรูปเงินบาทการส่งออก 9 เดือนแรก มีมูลค่า 6,001,376 ล้านบาท เติบโต 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ทั้งนี้การเติบโตของการส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จาก 1) การขยายตัวดีขึ้นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวมทั่วโลก 2) การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ 3) การสั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาล Thanksgiving ในช่วง พ.ย.นี้

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (6/11) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1606/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 1.1650/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1594-1.1624 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1608/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (6/11) เปิดตลาดที่ระดับ 114.63/66 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/11) ที่ระดับ 114.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันนี้ (6/11) นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับที่ “ค่อนข้างอ่อนแอ” แต่คาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% ในปีงบประมาณ 2562 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 113.64-114.42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 114.09/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงต้นสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าโรงงานของเยอรมนี (6/11) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยุโรป (6/11) ดัชนีราคาผู้ผลิตของยุโรป (6/11) ตัวเลขยอดค้าปลีกของยุโรป (7/11) ตัวเลขดุลการค้าของจีน (7/11) ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (8/11) ดัชนีราคาผู้บริโภคของ (8/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.7/0.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.3/-0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ