คาดการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแข็งแกร่ง กดดันดอลลาร์อ่อนค่า

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแข็งแกร่ง กดดันดอลลาร์อ่อนค่า

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันนี้ (25 พ.ค.)  ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/5) ที่ระดับ 31.29/31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (24/5) ที่ระดับ 31.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนเทขายดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และหันไปซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ยูโร หลังมีกระแสคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกเปิดเผยว่า

ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ 0.24 ในเดือน เม.ย. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.20 จากระดับ 1.71 ในเดือน มี.ค. โดยดัชนี CFNAI ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2564 (ประเมินการครั้งที่ 2) ของสหรัฐในวันพฤหัสบดี (27/5) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์นี้ (28/5) โดยดัชนี PCE นับเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (25/5) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกเดือน เม.ย.ปี 2564 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.09% เมื่อเทียบเดือน เม.ย.ปี 2563 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การระดมฉีดวัคซีนทั่วโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในภาคการผลิตและการบริโภค

ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,246.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 29.79% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 182.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.29-31.37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.34/31.36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (25/5) ที่ระดับ 1.2219/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/5) ที่ระดับ 1.2214/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนักลงทุนหันมาถือครองยูโรแทนดอลลาร์ ขานรับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในยุโรป โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของยูโรโซนยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากภาคบริการที่แข็งแกร่ง

แม้ว่าภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2212-1.2263 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2257/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/5) ที่ระดับ 108.84/85 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/5) ที่ระดับ 108.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นายโนริฮิสะ ทามูระ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (25/5) ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะพิจารณาเรื่องการขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงโตเกียว, จังหวัดโอซาก้า และอีก 7 จังหวัดโดยรอบ เมื่อคำสั่งในปัจจุบันสิ้นสุดลงในวันจันทร์ที่ 31 พ.ค.นี้

หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ระบบการแพทย์ของญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะตึงตัว และยังเตรียมบังคับใช้มาตรการกักตัวเป็นเวลา 3 วันเพื่อเฝ้าระวังโรคโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากอังกฤษ, เดนมาร์ก, คาซักสถาน และตูนีเซีย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.57-108.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค.ของสหรัฐ (25/5), ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีเดือน พ.ค.จากสถาบัน Ifo (25/5), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน เม.ย.ของสหรัฐ (27/5), ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2564 (27/5), และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (27/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.30/+0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +5.25/+6.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ