ผู้ว่าแบงก์ชาติหนุนรัฐกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้าน โควิดทำเสียหาย 2.6 ล้านล้าน

ธปท

ผู้ว่าธปท.หนุนภาครัฐเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลัง แนะกู้เพิ่มอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท พยุงรายได้ประชาชนหลังโควิดกระทบหายกว่า 2.6 ล้านล้านบาท เชื่อสัดส่วนหนี้สาธารณะวิ่งแตะ 70% ในปี 67 ไม่ใช่ปัญหาก่อนปรับลดลงตามเศรษฐกิจขยายตัว-การจัดเก็บรายได้

วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานผู้ว่าพบสื่อมวลชน (Meet the press) ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดส่งผลให้รายได้ภาคครัวเรือนถูกกระทบเป็นหลุมกว้างและหายไปอย่างมาก โดยจากข้อมูลในช่วง 2 ปี (2563-2564) หายไปกว่า 1.8 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปี 2565 จะหายไปอีกราว 8 แสนล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินรายได้ที่ถูกกระทบหายไป 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันคงยังไม่เพียงพอกับหลุมรายได้ที่หายไป

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงกระตุ้นทางการคลังเพื่อช่วยให้รายได้และฐานะการเงินของประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอีกลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุด โดยภาครัฐมีทรัพยากรจำกัด จึงต้องใช้วิธีที่ให้ผลทวีคุณต่อเศรษฐกิจสูง อาทิ มาตรการคนละครึ่ง ค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น เมื่อเทียบกับมาตรการเยียวยาที่ได้ผลน้อยกว่า จึงต้องใช้ยาแรงตามขนาดของหลุมโดยการเติมเม็ดเงินท็อปอัพจากเดิมที่มีอยู่อีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของจีดีพี 

อย่างไรก็ดี การใส่เม็ดเงินเพิ่มเติม 1 ล้านล้านบาท จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีวิ่งจากปัจจุบันในระดับกว่า 50% ไปอยู่ที่ระดับพีกสูงสุดที่ประมาณ 70% ของจีดีพีในปี 2567 และหลังจากนั้นจะทยอยลดลงตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่จะกลับมาฟื้นตัวเร็ว

“หากดูเสถียรภาพการคลังภาพรวมยังคงสมเหตุสมผลและความเสี่ยงจะน้อยกว่าไม่ทำอะไร ซึ่งมองว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะวิ่งขึ้นไป 70% เศรษฐกิจไทยไม่ได้ลำบากและยังรองรับได้ และสภาพคล่องในระบบตอนนี้ยังมีและเป็นการกู้ในประเทศ และหากดูดอกเบี้ยกู้ตอนนี้ระยะยาว 10 ปีดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่ถึง 1.6% ซึ่งเทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียดอกเบี้ยตอนนี้อยู่ 4.6% จึงมองว่าเป็นยาที่จำเป็นและเหมาะสมกับสภาวะ กู้เพื่อใส่ตอนนี้ดีกว่าทำตอนหลังที่ทุกอย่างชะลอตัว แต่การกู้แล้วต้องมีแผนชัดเจน”