ธปท. ลุยสร้างระบบนิเวศภาคธนาคาร เพื่อความยั่งยืนลดความเปราะบาง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าธปท. เผยไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิกาศ เหตุมีแรงงานอยู่ในภาคเกษตร-อุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง เร่งส่งเสริมภาคสถาบันการเงินสร้างเครื่องมือ-เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน หลังปล่อยสินเชื่อให้ภาคเอกชนกว่า 90% ย้ำเป้าหมายสร้างระบบนิเวศการเงินการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

วันที่ 27 กันยายน 2564 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงาน“Sustainable Thailand 2021 รวมพลังนักลงทุนสถาบันและภาคธนาคารร่วมกันประกาศเจตจำนงร่วมสร้างประเทศไทยยั่งยืน” ว่า รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างมาก

เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หรือ 1 ใน 10 ในฐานะประเทศที่มีความเปราะบางและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยไม่น่าแปลกใจเนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม และการตั้งของอุตสาหกรรมก็อยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งที่มีความเปราะบางต่อทะเลหนุนสูง

นอกจากนี้ไทยยังมีความเปราะบางในเรื่องของนโยบายที่ประเทศต่างๆ บังคับใช้เพื่อตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศด้วย โดยการส่งออกอยู่ในภาคส่วนที่มีรอยเท้าคาร์บอนที่สูง และได้รับผลกระทบจากมาตรการและนโยบาย เช่น นโยบายการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ ซึ่งเป็นแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป

ดังนั้น การธนาคารเพื่อความยั่งยืนมีบทบาทอย่างไรไปสู่จุดการลดความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศ ธนาคารในประเทศไทยสามารถพาไปสู่จุดที่ควรจะเป็นได้ เนื่องจากธนาคารเป็นผู้มีบทบาทหลักในการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน ซึ่งมากกว่า 90% สินเชื่อภาคเอกชนมาจากภาคการธนาคาร ดังนั้น การธนาคารจึงต้องมีการบูรณาการเพื่อความยั่งยืนเอาไว้ในการตัดสินใจในการให้สินเชื่อด้วย และต้องมีการปรับปรุงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการธนาคารยังต้องปรับปรุงเครื่องมือเรื่องการประเมินความเสี่ยงด้วย

“และการที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นผลได้ ธนาคารจะต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหารที่ชัดเจน โดยในปัจจุบันเราเริ่มเห็นความคืบหน้าดังกล่าวแล้ว ทั้งธปท.และสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติในประเทศไทยได้จัดทำการรับรองการทำกิจการธนาคารในปี 62 เราเห็นการธนาคารทำที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น คือ การบูรณาการความยั่งยืนเอาไว้ในการดำเนินธุรกิจ เราเริ่มเห็นการธนาคารจัดโครงสร้างธรรมาภิบาลเรื่องความยั่งยืน เช่น การตั้งคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืน และมีการพัฒนาเครื่องมือประเมินความเสี่ยง และการเปิดเผยข้อมูลเรื่อง ESG ต่าง ๆ”

ธปท.มีความพร้อมที่สนับสนุนธนาคารในการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยธปท.มีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศการเงินการธนาคารเพื่อความยั่งยืนที่จะมีการบูรณาการประเด็นเรื่องความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติงาน โดยรวมถึงการพัฒนาเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูล การประเมินความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาการจัดหมวดหมู่ห่วงโซ่ธุรกิจสีเขียวภาคการเงิน

“นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้นที่เราทำ และยังมีอีกหลายสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไป และการที่เราไม่ทำอะไรเลยจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้การเปลี่ยนผ่านไม่มีระบบระเบียบมากยิ่งขึ้นไปอีก”