กองทุน SSF- RMF คู่หูลดหย่อนภาษี แตกต่างกันอย่างไร เลือกกองไหนดี

เปรียบเทียบกองทุน  SSF- RMF  คู่หูลดหย่อนภาษี เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรแล้วลงทุนกองไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน 

 

เปรียบเทียบกองทุน SSF – RMF

  •  ลักษณะกองทุน

กองทุน SSF หรือ Super Saving Funds เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมระยะยาว

กองทุน RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อการออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้ในยามเกษียณอายุ

โดยทั้ง 2 กองทุนเป็นกองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เหมือนกัน

 

  •   วงเงินที่ได้รับสิทธิลดหย่อน

ผู้ลงทุนในกองทุน SSF สามารถใช้วงเงินที่ได้รับสิทธิลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีหรือรายได้ที่พึงประเมิน หรือลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 200,000 บาท

ส่วนผู้ลงทุนในกองทุน RMF สามารถใช้วงเงินที่ได้รับสิทธิลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีหรือรายได้ที่พึงประเมิน หรือสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท

โดยเงื่อนไขวงเงินลดหย่อนเมื่อนับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น ๆ เช่น กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) , กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท เหมือนกันทั้งสองกองทุน

 

  • การลงทุนในหลักทรัพย์

ต้องบอกว่าทั้งกองทุน SSF- RMF เป็นกองทุนที่มีความยืดหยุ่นในหลักทรัพย์ที่ลงทุนสำหรับให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนในตามที่ตัวเองสนใจ โดยสามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

เช็กเทรนด์ “SSF & RMF” กองทุนหุ้นนอกฮอต-รีเทิร์นสูง

 

  • ระยะเวลาถือครอง

ตามเงื่อนไขของการนำกองทุน SSF ไปลดหย่อนภาษีผู้ลงทุนจะต้องถือครองเป็นระยะเวลา 10 ปีหรือไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ  โดยการนับระยะเวลา 10 ปี ของกองทุน SSF จะนับแยกเป็นกองที่ซื้อแต่ละปี

ส่วนกองทุน RMF ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

 

  • ช่วงเวลารับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สำหรับการนำกองทุน SSF มาใช้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีผู้ลงทุนจะต้องซื้อกองทุนระหว่างปี 2563 – 2567  โดยหากซื้อกองทุนหลังจากนั้นในปีถัดไปกระทรวงการคลังจะมีการพิจารณาอีกที

ขณะที่กองทุน  RMF  ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้เรื่อยๆ เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนดในการสิ้นสุดการลงทุนในปีไหน

 

  • ต้องซื้อขั้นต่ำเท่าไหร่

ผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนทั้ง SSF- RMF สามารถลงทุนหรือซื้อหน่วยลงทุนเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่มีการกำหนดซื้อขั้นต่ำและไม่บังคับต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี  โดยที่กองทุน RMF ได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่จากเดิมที่ต้องซื้ออย่างน้อย 3% หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาท และต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี)

 

  • นโยบายการจ่ายปันผล

ในส่วนนโยบายการจ่ายเงินปันผลสำหรับกองทุน  SSF จะมีทั้งการจ่ายปันผลและไม่จ่ายปันผลซึ่งจะขึ้นอยู่กับกองทุนที่เราซื้อไว้   ส่วนกองทุน RMF จะไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล

กองทุน SSF- RMF ทยอยเปิดขาย รับเทศกาลลดหย่อนภาษี

ระหว่าง SSF-RMF เลือกกองไหนดี

เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองกองทุนต่างก็สามารถใช้วงเงินการลดหย่อนภาษีได้เท่ากัน นั่นคือ  เมื่อนับรวมกับกองทุนประเภทอื่นๆ 500,000 บาท  แต่ทั้งสองกองทุนต่างก็ยังมีข้อแตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์การลงทุนของผู้ลงทุนเอง โดยมีข้อให้พิจารณาง่ายๆ 2 หลัก ดังนี้

  • ความต้องการในการลงทุน

หากดูจากเงื่อนไขของระยะเวลาในการถือครอง ทั้งสองกองทุนมีความแตกต่างกัน  ซึ่งถ้าผู้ลงทุนต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุแน่นอนว่ากองทุน RMF ตอบโจทย์ได้มากกว่า  ขณะที่ถ้าเน้นการออมระยะยาว ประมาณ 10 ปีกองทุน SSF ก็จะตอบโจทย์

  • อายุกับระยะเวลาการลงทุน

หากผู้ลงทุนอายุไม่เกิน 45 ปี  การเลือกลงทุนในกองทุน SSF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า เพราะกำหนดเอาไว้ที่ 10 ปี  หากเริ่มซื้อกองทุนตอนอายุ 25 ปี คุณจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 35 ปี จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

แต่หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนในกองทุน RMF คุณจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปี ซึ่งจะเห็นว่าจะใช้ระยะเวลาในการลงทุนนานกว่า

ทั้งนี้ในทางกลับกันหากผู้ลงทุนอายุ 50 ปี  การเลือกลงทุนในกองทุน RMF จะใช้ระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า เพราะจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตอนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับใช้เวลาลงทุนเพียง 5 ปี แต่ถ้าเลือกลงทุนในกองทุน SSF ต้องใช้ระยะเวลาลงทุน 10 ปี  ทำให้จะสามารถขายคืนได้ก็เมื่ออายุ 60 ปี

เมื่อพิจารณาจากทั้ง 2 ข้อด้านบนจะเห็นได้ว่าการเลือกลงทุนให้เหมาะกับความต้องการและเหมาะสมกับอายุของตัวเอง จากความแตกต่างของระยะเวลาถือครองของทั้ง 2 กองทุน ก็เป็นจุดที่ช่วยให้ผู้ลงทุนเลือกกองทุนได้เหมาะกับตัวเองมากขึ้น