ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่า หลังเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน 2564

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/11) ที่ระดับ 33.04/06 บาท/ดอลลาร์ หลังจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบล่าสุดประกาศปรับลดวงเงิน QE ตามที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ แต่ไม่ได้มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม โดยประธาณธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงเน้นย้ำในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ ว่าเป็นแค่เพียง “Transitory” และไม่ได้กล่าวถึงระยะเวลาในการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยแต่อย่างใด

ส่งผลให้นักลงทุนเทขายเงินสกุลดอลลาร์ออกมาในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงกลางสัปดาห์นี้ และการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อดูทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐต่อไป

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่ามากสุดในรอบสามสัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ประกอบกับมีกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก

โดยล่าสุด (8/11) นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยประมาณ 4,900 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าท่ามกลางความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากเปิดประเทศมาแล้ว 7 วัน รัฐบาลประเมินว่าสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เพียง 15 คน จึงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้

โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 300,000 คน ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ประเทศและกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศมีมากขึ้นและราคาสินค้าก็จะปรับตัวดีขึ้นอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.75-32.88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.75/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (9/11) ที่ระดับ 1.1584/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/11) ที่ระดับ 1.1571/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ นายลูอิส เด กินโดส รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนจะปรับตัวลดลงในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อในขณะนี้เป็นเพียงแค่ภาวะชั่วคราว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1577–1.1608 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1585/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/11) ที่ระดับ 113.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (8/11) ที่ระดับ 113.48/50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

ในขณะที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายพิเศษ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย จากภาคการบริโภคที่อ่อนแอโดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.72–113.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.86/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ต.ค.ของสหรัฐ (9/11), อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค.ของสหรัฐ (10/11), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (10/11), ตัวเลขอัตราการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ก.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน พ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐ (12/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.80/ +1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.30/-0.15 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ