คลัง เร่งวางนโยบายหนุนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ให้กระทบระบบการเงินประเทศ

REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

รมว.คลัง พร้อมส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัล ชี้หารือ “ธปท.-ก.ล.ต.-ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง” วางแนวนโยบาย ไม่ให้กระทบการเงินในประเทศ ส่วนการเก็บภาษีคริปโทฯ สรรพากรเร่งสรุปภายในม.ค.65 กำหนดแนวทางยื่นแบบภาษีเงินได้

วันที่ 26 มกราคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล เริ่มตั้งแต่ปี 2561 ตามพระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล โดยตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี สินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งเทคโนโลยี ธุรกรรม และผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดความท้าทายในเรื่องการกำกับดูแล โดยการกำกับดูแลนั้น เป็นแนวทางการปฏิบัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธุรกิจ รวมทั้งการดูแลผู้บริโภคด้วย

“การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้ริเริ่มในปีนี้ แต่กฎหมายที่ออกมาในปี 2561 ก็มีการเสียภาษีในเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าเริ่มต้นการพัฒนาส่วนนั้นยังมีไม่มาก เพิ่งได้รับความนิยมในปี 2564 เนื่องจากบริบททางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องศูนย์การซื้อขาย โบรกเกอร์ และการระดมเงินผ่าน ICO”

นายอาคม กล่าวว่า กระทรวงการคลังให้ความสำคัญนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ โดยไม่ให้กระทบระบบการเงินในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการติดตามการลงทุนและแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นธุรกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโต และเป็นรากฐานที่สำคัญในการทำธุรกรรมที่ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงในอนาคต

ดังนั้น แนวทางการส่งเสริม และสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้พิจารณาแนวปฏิบัติของประเทศต่างๆ มาดำเนินให้สอดคล้องบริบทของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการกำกับนโยบาย การประกอบธุรกิจ และการคุ้มครองผู้ลงทุน

อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล จะยึดแนวทางผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้นักลงทุนหรือผู้ที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับประโยชน์จากการลงทุน และสร้างแรงขับเคลื่อนจากนวัตกรรมดังกล่าวของประเทศไทย เพื่อให้การซื้อขาย การระดมเงินทุน ผ่านไปสู่ธุรกิจกับอุตสาหกรรม โดยสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากส่งผ่านไปถึงการสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

“กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ กฎหมายในปี 2561 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ดำเนินการในบทบาทการกำกับดูแล ซึ่งกระทรวงการคลัง และก.ล.ต. ก็มีการติดตามในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล

และมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องไปถึงแนวนโยบาย เพื่อรองรับธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีการประกอบธุรกิจ และการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยยึดแนวทางการส่งเสริมแบบสมดุล”

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับการชำระภาษี และการยื่นแบบเงินได้ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ จากเอกชน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางคำนวณภาษี สร้างความเป็นธรรม ไม่สร้างความยุ่งยากให้กับประชาชน

โดยนโยบายในการส่งเสริมมี 2 ส่วน คือส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม เช่น ลดหย่อน ยกเว้น ในช่วงระยะเวลาที่จำกัด และมาตรการที่ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ อาทิ เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนนี้อยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้

“การเก็บภาษีคริปโทฯ กำหนดเวลาการยื่นแบบชัดเจนอยู่แล้วคือภายใน 31 มี.ค. เมื่อ 2-3 สัปดาห์มีการหารือกัน สรรพากรเมื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติ ในการยื่นแบบ เพราะภาษีเสียตั้งแต่ปี 61 แต่ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่มีแนวทางชัดเจน จึงจะมีการกำหนดวิธีการกรอก เช่น การกำหนดต้นทุน การเฉลี่ย วิธีการหักภาษี เป็นต้น โดยหลักการให้ไม่ยุ่งยาก ให้ผู้เสียภาษีมีความสะดวกสบาย ประเด็นสำคัญคือการประเมินรายได้จากการเทรด เพื่อกำหนดแนวทางที่จะประเมินส่วนนี้”