มอนิ่งสตาร์ฯชี้ผลตอบแทนติดลบฉุด AUM หลายกองทุนหดตัว

มอนิ่งสตาร์ ชี้ผลตอบแทนติดลบฉุด AUM หลายกองทุนหดตัว

มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เผยภาพรวมกองทุนรวมไตรมาส 1 มูลค่าทรัพย์สินหลายกองทุนหดตัวลงจากผลตอบแทนที่ติดลบต่อเนื่องจากความกังวลเงินเฟ้อ-สงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่กองทุนที่มีมูลค่าเงินไหลเข้าสูงสุด นำโดยกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ส่วนกองทุนประเภทตราสารหนี้เงินไหลออกสูงสุดรอบไตรมาส 1

วันที่ 18 เมษายน 2565 นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้การลงทุนยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยผันผวน ทั้งสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่แม้ว่าโดยรวมทั่วโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นโดยเห็นได้จากการระบาดในประเทศจีนที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงช่วงเวลาหนึ่ง

ด้านสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่ยุติ ได้ส่งผลต่อราคาพลังงานทั่วโลก ทำให้กองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังพุ่งสูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะปรับดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ด้านพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond yield) ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้มีแรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยแม้ว่ายังมีการระบาดของโอมิครอน ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันคงอยู่ระดับมากกว่า 2 หมื่นคนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาและยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ายังไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศมากนัก โดยดัชนี SET Index ปิดที่ 1,695.24 จุด SET TR รอบ 3 เดือนอยู่ที่ 3.2%

จากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้กองทุนหลายประเภทมีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลง ด้านกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่หดตัวลง 4.2% จากสิ้นปี 2564 โดยเป็นการหดตัวลงในทุกประเภทกองทุนยกเว้นกองทุนตราสารตลาดเงิน ในช่วงไตรมาสแรกมีเงินไหลออกสุทธิรวม 8.7 หมื่นล้านบาท

กองทุน Money Market เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดที่ 6.6 แสนล้านบาท สูงกว่ากลุ่ม Equity Large-Cap ไม่มากนัก ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% จากสิ้นปี 2564 จากเงินไหลออกสุทธิรวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุน LTF ที่ถูกไถ่ถอนออกไปในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) โดยรวมยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 2.4 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2564 เล็กน้อย และยังไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก จากเงินไหลออกสุทธิต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุดด้วยมูลค่ารวม 3.9 พันล้านบาท

กองทุนเพื่อการออมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 1% จากสิ้นปี 2564 มาอยู่ที่ระดับ 3.9 หมื่นกว่าล้านบาท โดยมีเหตุผลหลักจากผลตอบแทนกองทุนติดลบหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นต่างประเทศ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในไตรมาสแรกไหลเข้าสุทธิ 1.3 พันล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ระดับ 9 ร้อยล้านบาท

ด้านกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.5 แสนล้านบาท ลดลง 3.4% จากสิ้นปี 2564 มูลค่าเงินไหลออกสุทธิรอบไตรมาสแรกรวม 1.6 หมื่นล้านบาท กองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.9 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้วราว 11.8% โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลงเป็นผลจากทั้งเม็ดเงินไหลออกสุทธิ 1.6 พันล้านบาท และผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่กองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท ลดลง 8.6% จากสิ้นปี 2564 มีเงินออกสุทธิ 361 ล้านบาท เนื่องจากกองทุนตราสารทุนต่างประเทศหลายกลุ่มมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แต่นักลงทุนยังคงเข้าลงทุนต่อเนื่อง

และสุดท้ายกองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 6.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.6% จากสิ้นปี 2564 มีเงินไหลเข้าสุทธิเล็กน้อย ใน 5 อันดับกองทุนยั่งยืนขนาดใหญ่โดยรวมมีมูลค่าทรัพย์สินหดตัวลงจากสิ้นปี 2564 ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากผลตอบแทนติดลบในช่วง 3 เดือนเช่นกัน

สำหรับกองทุนที่มีมูลค่าเงินไหลเข้า-ออกสูงสุดรอบไตรมาส 1 โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีกองทุนหุ้นเวียดนามเปิดใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่องและในช่วงไตรมาสแรกมีกองทุนเวียดนามเปิดใหม่ 7 กองทุนจาก บลจ. 4 แห่งและยังได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน โดยกองทุน KKP Vietnam Growth Opportunities NFRI มีเงินไหลเข้าสูงสุด 3.3 พันล้านบาท ตามมาด้วยกองทุน TMB Eastspring Vietnam Active Equity 2.6 พันล้านบาท ทำให้ทั้ง 2 กองทุนมีเงินไหลเข้าสูงสุดในกลุ่มกองทุนต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา (มอร์นิ่งสตาร์ฯจะเริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มกองทุนหุ้นเวียดนาม หรือ Vietnam Equity ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)

ทางด้านกองทุนที่มีเงินไหลออกสูงสุดส่วนใหญ่เป็นกองทุนตราสารหนี้ นำโดยกองทุน TMB Global Income ที่ 3.8 พันล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนจาก บลจ.ไทยพาณิชย์ 2 กองทุนคือ SCB Global Fixed Income A 3.4 พันล้านบาทและ SCB Credit Opportunities A 1.8 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแรงขายกองทุนทองคำ K Gold-A(D) ด้วยมูลค่า 1.2 พันล้านบาท (ดูตาราง)