กสิกร-SCBบุกอีคอมเมิร์ซ เสิร์ฟตรงลูกค้าโมบายแบงกิ้ง-ปั๊มค่าฟี

“เคแบงก์-เอสซีบี” 2 แบงก์พาณิชย์ใหญ่เดินเกมรุกคืบขยายธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” ทดลองเปิดบริการมาร์เก็ตเพลซ ตัวกลางเชื่อมระหว่าง “ร้านค้า-ลูกค้า” ช่องทางขายสินค้าของเอสเอ็มอีด้วยต้นทุนถูกลง เคแบงก์เผยมีฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งกว่า 7 ล้านบัญชีที่มีเงินหมุนเวียนกว่า 5 แสนล้าน ถือเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อ ชี้ช่องทางใหม่ดีกว่าฝากวางขายในห้าง ขณะที่ “เอสซีบี” มีลูกค้าโมบายแบงกิ้งกว่า 6 ล้านบัญชี ธปท.เผยปี”61 พร้อมคลอดเกณฑ์

เคแบงก์บุก “อีคอมเมิร์ซ”

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG ในเครือธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างยื่นขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำแพลตฟอร์ม machine commerce โดยใช้ธนาคารเป็นตัวกลางในการจับคู่ระหว่างร้านค้าและลูกค้า เพื่อซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของธนาคาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในโมบายแบงกิ้ง K Plus ของธนาคาร

ตอนนี้ยังรอ ธปท.อนุมัติ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ต้องเข้าสนามทดสอบนวัตกรรม (regulatory sandbox) เพราะไม่ใช่นวัตกรรมการเงินใหม่ ซึ่งระหว่างนี้ธนาคารก็ได้ขออนุญาต ธปท.นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไปทดลองให้บริการกับพนักงานธนาคาร ซึ่งทดลองทำหลายรอบแล้ว เช่น ช่วงเดือน ก.พ. ทดลองขายดอกกุหลาบให้พนักงานในวันวาเลนไทน์ หรือเดือนที่ผ่านมาก็นำสินค้าเกษตรมาขาย

“วิธีการคือให้ร้านค้ามาเปิดช็อปบนแพลตฟอร์มของธนาคาร โดยที่ธนาคารเป็นตัวเชื่อมให้สินค้าเดินทางไปหาคนซื้อได้ เรียกว่าเป็นช่องทางการทำธุรกิจเพื่อช่วยสร้างยอดขายให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังช่วยให้เอสเอ็มอีลดต้นทุนการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์กับคนตัวเล็ก ๆ และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย โดยที่เราไม่ได้เป็นร้านค้า แต่เป็น matching engine ตัวเชื่อมให้สินค้าเดินทางไปถึงคนซื้อได้” นายสมคิดกล่าว

ธนาคารมีฐานลูกค้า 7 ล้านราย

นายสมคิดกล่าวว่า หากธนาคารเปิดแพลตฟอร์ตอีคอมเมิร์ซได้อย่างเป็นทางการ จะเป็นการสร้างโอกาสให้คนจำนวนมาก เพราะคนขายของไม่จำเป็นต้องเปิดร้าน และคนที่มีสินค้าดีๆ อาจมีตลาดการขายที่จำกัด แต่ตลาดของธนาคารมี 7 ล้านคนบนโมบายแบงกิ้งมีเงินหมุนเวียน 5 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถดึงดีมานด์กลุ่มนี้ออกมาให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยบนระบบธนาคารได้

ดังนั้นในแต่ละเดือนอาจมีคนเข้ามาซื้อสินค้ามากถึง 10,000 คน ซึ่งถ้าราคาสินค้า 100 บาท ก็เท่ากับจะมียอดขาย 1 ล้านบาท เรียกว่าดีกว่าที่เคยขาย หรือดีกว่าการไปฝากขายตามห้างที่มีค่าใช้จ่ายในการวาง ทำให้ราคาสินค้าอาจสูงขึ้นและขายยากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์กับธนาคารเช่นกัน และอาจเป็นช่องทางที่จะนำรายได้มาสู่ธนาคารได้ในอนาคต ในรูปค่าธรรมเนียมหรือรายได้ จากการเป็นตัวกลางซื้อขาย

นอกจากนี้การมีบริการใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการซื้อขายออนไลน์ครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้ธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาดาวโหลดแอปพลิเคชั่นทั้ง K Plus และ K Plus Shop เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ K Plus Shop ที่ปัจจุบันมียอดลงทะเบียนแล้ว 300,000 แสนร้านค้า ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ณ สิ้นปีนี้ 200,000 ร้านค้า ขณะที่คาดว่าจะมียอดดาวโหลดถึง 1 ล้านร้านค้าในกลางปีหน้า

ต่อยอดปล่อยกู้-ผลิตภัณฑ์ใหม่

นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากธนาคารจะมีโอกาสได้ฐานลูกค้าใหม่ จากกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า และลูกค้าที่เข้ามาซื้อขายในระบบธนาคารแล้ว ทำให้อนาคตธนาคารสามารถต่อยอดบริการใหม่ ๆ เพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นได้ เช่นการใช้ machime learning เข้าไปวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ในการปล่อยสินเชื่อ ให้กับกลุ่มร้านค้า รวมทั้งการเสนอบริการใหม่ ๆ ตามพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคนได้ตรงจุดมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่จะทำรายได้ให้กับธนาคารได้ในอนาคต

ขณะนี้ธนาคารได้มีการนำ machine learning มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลออกมาทดลองให้บริการ โดยหลังวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า ธนาคารจะสามารถยื่นข้อเสนอเงินกู้ให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มว่าลูกค้าประเภทนี้ธนาคารควรเสนอสินเชื่อประเภทไหน แต่ละคนจะได้ข้อเสนอที่ไม่เหมือนกัน

“ล่าสุดธนาคารได้ทดลองใช้ machine learning วิเคราะห์การปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีเงินเดือน 30,000 บาทขึ้นไป โดยเริ่มทดลองปล่อยกู้ตั้งแต่ ต.ค.เป็นต้นมา ธนาคารได้ยิงข้อเสนอไปที่ลูกค้าไม่กี่พันคน ตอนนี้มีคนรับสินเชื่อ 20 กว่าคน วงเงิน 30,000-500,000 บาท ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ลูกค้าเลือกได้เอง เช่น วงเงินกู้ ระยะเวลาชำระเงินกู้ ฯลฯ” นายสมคิดกล่าว

SCB เปิดแพลตฟอร์ตช่วย SME

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสและ chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือเอสซีบี กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารยังไม่ได้ทำด้านอีคอมเมิร์ซโดยตรง เพราะต้องรอ ธปท.อนุญาตก่อน โดยขณะนี้ธนาคารกำลังทำแพลตฟอร์มเพื่อต่อยอดไปสู่การลุยอีคอมเมิร์ซเต็มตัวในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการทดสอบแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางการทำธุรกิจที่ชื่อว่า “business link” ซึ่งจะฝังอยู่ในแอปพลิเคชั่น SCB Easy รองรับการใช้งาน 2 รูปแบบ คือ เป็นช่องทางเสริมศักยภาพการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี โดยจะเน้นไปที่เอสเอ็มอีไซซ์เล็ก (SSME) ซึ่งต้องการความช่วยเหลือหลายด้าน ทั้งคำปรึกษา และเป็นช่องทางการทำธุรกิจของเอสเอ็มอีกับคู่ค้า เพื่อจะสามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้

รูปแบบที่สองคือเป็น “มาร์เก็ตเพลซ”ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยกับลูกค้ามาพบกัน เพื่อให้เป็นอีกช่องทางที่ช่วยทั้งร้านค้ารายย่อยให้มีช่องทางการขายสินค้าได้มากกว่าหน้าร้านปกติ มาสู่การขายบนดิจิทัล ขณะเดียวกันธนาคารก็จะได้ลูกค้าที่เป็นร้านค้าเข้ามาอยู่ในพอร์ตธนาคารเพิ่มเติมด้วย

นายธนากล่าวว่า นอกจากเป็นตัวกลางเชื่อมต่อเอสเอ็มอีและลูกค้ามาเจอกันแล้ว ธนาคารยังจับมือกับร้านค้าหรือพันธมิตรธุรกิจ เพื่อเข้าไปทำให้ช่องทางการขายสินค้าของภาคธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยใช้ระบบชำระเงินของธนาคารเข้าไปซัพพอร์ต ทั้งการนำคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ หรือการจ่ายเงินออนไลน์ไปสนับสนุนให้เกิดการค้าขายที่รวดเร็ว และสะดวกมากขึ้น

“เช่นล่าสุดมีการจับมือโรงหนังเอสเอฟ เมเจอร์ เพื่อทำให้โรงหนังมีช่องทางการชำระเงินใหม่ ๆ มากกว่าการใช้เครดิตการ์ด หรือเดบิตการ์ด นี่คือรูปแบบอีคอมเมิร์ซที่ธนาคารทำอยู่ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าธนาคารที่มีแอป SCB Easy ราว 6 ล้านบัญชีเข้ามาใช้บริการได้ แต่จะถึงขั้นให้ธนาคารเป็นผู้เปิดตลาดขายของเอง ยังไม่สามารถทำได้ และวันนี้เรามีรายได้จากการขายของไม่ได้ ซึ่งทำได้แค่เป็นตัวกลางเท่านั้น” นายธนากล่าว

ธปท.หนุนอีคอมเมิร์ซ

ขณะที่ก่อนหน้านี้นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่าขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ กรณีแบงก์พาณิชย์จะเข้ามาทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หลังมีแบงก์เข้ามาขออนุญาตกับ ธปท. ซึ่งอนาคตก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเห็นแบงก์เข้าไปทำธุรกิจนี้ เพราะในประเทศสิงคโปร์ ธนาคารกลางสิงคโปร์ก็อนุญาตให้แบงก์สามารถเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ สามารถขายสินค้า ทำหน้าที่เป็นตัวกลางได้ แต่จำกัดอยู่ในประเภทสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อธุรกิจต่ำด้วย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปี 2561