ดอลลาร์อ่อนค่า นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 3 มกราคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.44/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/12) ที่ระดับ 32.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดเงินมีปริมาณธุรกรรมที่เบาบางในช่วงปิดปีใหม่ รวมทั้งไม่มีทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาสนับสนุน โดยไอเอชเอส มาร์กิต (2/1) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.1 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 53.9 ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้มาร์กิตระบุว่า ดัชนี PMI เดือนธันวาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ซึ่งสะท้อนการปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในภาคการผลิตสหรัฐ ขณะที่ผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวสูงขึ้น อุปสงค์ของลูกค้าก็สูงขึ้น ขณะที่การจ้างงานพุ่งขึ้นในอัตราเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันายน 2557 นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดการเงินจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนธันวาคมในวันศุกร์นี้ (5/1) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นราว 190,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม หลังจากที่เพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.1% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 32.35-32.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 32.31/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (3/1) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2063/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/12) ที่ระดับ 1.1984/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน (2/1) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของประเทศเยอรมนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 63.3 ในเดือนธันวาคม ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 62.5 ในเดือนพฤศจิกายน และนอกจากนี้ไอเอชเอส มาร์กิต (2/1) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 60.6 ในเดือนธันวาคม จากระดับ 60.1 ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2031-1.2063 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2038/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (3/1) เปิดตลาดที่ระดับ 112.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/12) ที่ระดับ 112.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักข่าวเกียวโดได้ทำการสำรวจความเห็นของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น โดยผลสำรวจระบุว่า กว่า 80% ของบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับการสำรวจครั้งนี้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ดีในปี 2561 อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคเอกชนและการใช้จ่ายส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี บริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง ผลสำรวจล่าสุดนี้สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตในปีนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผลสำรวจในปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58% นับเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ว่า บริษัทญี่ปุ่นต่างมีมุมมองบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นนั้น บริษัท 49 แห่งคาดการณ์ว่า ดัชนีนิกเกอิจะยังคงเคลื่อนไหวตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2561 หลังจากที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 6 ปีในปี 2560 ในขณะที่บริษัทอีก 31 แห่งมองว่า ดัชนีนิกเกอิจะทรงตัวในปี 2561 และไม่มีบริษัทใดที่คาดว่าดัชนีนิกเกอิจะชะลอตัวลง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.24-112.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน (3/1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคบริการอียู เดือนธันวาคม (4/1) ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ เดือนธันวาคม (4/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (4/1) ยอดค้าปลีกเยอรมนี เดือนพฤศจิกายน (5/1) อัตราเงินเฟ้ออียู (5/1) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ เดือนธันวาคม (5/1) ดุลการค้าสหรัฐเดือนพฤศจิกายน (5/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -4.05/-3.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ