จับตา “เงินเฟ้อสหรัฐฯ-จีดีพี Q2 ของจีน” กดดันเงินบาทเหวี่ยงอ่อนค่า

แบงก์ประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 35.80-36.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-จีดีพีไตรมาส 2 ของจีน” คาดออกมาแย่กว่าคาด กดดันเงินบาทผันผวน ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิเล็กน้อย

วันที่ 10 กรกฎคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 11-15 กรกฎาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35.80-36.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะเป็นตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จับตามองและจะมีผลต่อตลาด อาจทำให้ตลาดช่วงนั้นมีแรงเหวี่ยงพอสมควร รวมถึงตัวเลขยอดค้าปลีก และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด

ขณะที่ฝั่งยุโรป จะมีตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของประเทศเยอรมัน ขณะที่จีนก็มีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตาม เช่น ตัวเลขเศรษ,กิจไตรมาสที่ 2 และตัวเลขยอดค้าปลีก ทั้งนี้ หากตัวเลขจีนออกมาค่อนข้างดี จะช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป

สำหรับทิศทางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 4-8 กรกฎาคม 65) พบว่าตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 1,300 ล้านบาท ซึ่งมาจากหุ้นน้ำมันปรับตัวลง ทำให้นักลงทุนกลับมาซื้อ ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิราว 1,900 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ทิศทางฟันด์โฟลว์ในสัปดาห์หน้ามองว่า นักลงทุนมีความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะออกมา ทำให้การเข้ามาซื้อหุ้นอาจจะไม่สูงมาก เช่นเดียวกับบอนด์ น่าจะเข้ามาซื้อเล็กน้อยเกือบ 2,000 ล้านบาท โดยหากกรอบเงินบาทหลุด 35.80 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนอาจจะไม่ได้รีบเทขายออกมาสูงมาก

“เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาบางวัน เพราะมองว่าดัชนีค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าถึงจุกพีกแล้ว ดังนั้น กรอบที่ให้ไว้ 36.50 บาทต่อดอลลาร์น่าจะยังพอรับไหว แต่หากเกิกกรณีจีนมีการประกาศล็อกดาวน์ และไทยมีภาพคนติดโควิด-19 เยอะ ทำให้แรงส่งจากปัจจัยนี้ก็อาจดันให้บาทไปแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ส่วนทิศทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สื่อสารว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดภาพแมคโคร เพราะมองว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในไตรมาสที่ 4 จากภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเคลื่อนไหวในสัปดาห์หน้าอยู่ที่ 35.80-36.35 บาทต่อดอลลาร์ โดยติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือน มิถุนายนของสหรัฐฯ คาดว่าจะอยู่ในระดับ 8.7% รวมถึงติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีก

ทั้งนี้ หากตัวเลขจ้างงานออกมาแย่กว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าน่าจะทำให้เงินสกุลดอลลาร์เผชิญแรงขายทำกำไร และมีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยได้บ้าง เนื่องจากตลาดอาจลดการคาดการณ์เกี่ยวกับระดับความรุนแรงของการคุมเข้มนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะถัดไป

“เงินบาทที่อ่อนหลุด 36 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้นักลงทุนเข้าถือครองเงินดอลลาร์”