ลงทุนหุ้นกู้ เตือน 3 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด

ลงทุนหุ้นกู้ เตือน 3 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด
ภาพจาก pexels

หุ้นกู้บานสะพรั่ง ภาคเอกชนแห่ล็อกต้นทุนรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น เปิด 3 คำเตือน รู้ความเสี่ยงก่อนลงทุนหุ้นกู้

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า แนวโน้มการระดมทุนหุ้นกู้ช่วงที่เหลือของปีนี้มีทิศทางขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง เพราะการที่ดอกเบี้ยขึ้นมาแรง ภาคธุรกิจก็เห็นช่องทางในการช่วยล็อกต้นทุนทางการเงินได้ดีกว่า เพราะเงินกู้แบงก์เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ประกอบกับสภาพคล่องตลาดเงินที่สูง เห็นได้จากเงินออมของครัวเรือน

ดร.สมจินต์ กล่าวด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมากลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เป็นเซ็กเตอร์ที่มีการออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากทิศทางราคาน้ำมันแพง โดยมีสัดส่วนการออกหุ้นกู้สูงถึง 24% และ 13% ตามลำดับ บริษัทขนาดใหญ่มาใช้ทางเลือกการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ทั้งกลุ่ม ปตท., บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นคือยังมีจำนวนผู้ออกหุ้นกู้รายใหม่ที่ไม่เคยขายหุ้นกู้มาก่อน เพิ่มเป็น 14 บริษัท เทียบจากปีཻ-64 ที่มีอยู่แค่ 7 บริษัท ซึ่งกระจายอยู่ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี, อาหาร, พลังงาน, ไอซีที, สถาบันการเงิน เป็นต้น

เตือนรู้ความเสี่ยงก่อนลงทุน

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า การลงทุนหุ้นกู้สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือ 1.ประเมินความเสี่ยงจากการไม่ได้เงินคืน หรือ credit risk ที่เกิดจากการเบี้ยวหนี้ ต้องรู้จักว่าผู้ออกหุ้นกู้เป็นใคร ธุรกิจมั่นคงพอที่จะมีกระแสเงินสดมาจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นได้หรือไม่ ถ้าจะซื้อไฮยีลด์บอนด์เพื่อผลตอบแทนสูง ต้องรับรู้ความเสี่ยงเหล่านี้ และที่สำคัญ การซื้อต้องกระจายความเสี่ยง

2.หากถือไม่ครบกำหนด ขายคืนระหว่างทางอาจจะต้องขายขาดทุน ได้ราคาน้อยกว่าเงินต้นได้ จากราคาตลาดที่เคลื่อนไหวขึ้นลงได้ และ 3.สภาพคล่องในตลาดรองน้อย เช่น หุ้นกู้ไม่มีกำหนดอายุอย่าง perpetual bond ที่ไม่ค่อยมีใครรับซื้อต่อ

“ในปีนี้ถือว่าผู้ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความมั่นคงสูง จึงเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้น้อย ขณะที่หุ้นกู้เสี่ยงสูงอย่างน้อยก็ถูกจำกัดการลงทุนได้เฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ (HNW) ซึ่งปัจจุบันก็ค่อนข้างมีความรู้และกระจายความเสี่ยงลงทุนมากขึ้น”

ขณะที่ปีนี้ผู้ออกหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ช่วงครึ่งปีแรกกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท และพบว่ามีสัดส่วนของหุ้นกู้ที่มีหลักประกันลดลงเหลือ 54% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 68% ซึ่งยังบอกไม่ได้แน่ชัดมากว่าสะท้อนถึงสภาพสินทรัพย์ที่มีปัญหา ต้องพิจารณาเป็นรายบริษัท โดยผู้ออกส่วนใหญ่นำเงินไปรีไฟแนนซ์และคืนเงินกู้แบงก์ เพราะดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นจึงต้องล็อกต้นทุนดอกเบี้ยคงที่เอาไว้