ธอส.พร้อมตรึงดอกเบี้ย ดูแลลูกค้า-หนุนอสังหาโตได้ต่อเนื่อง

ธอส.
ภาพจากเฟซบุ๊ก ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ธอส.พร้อมตรึงดอกเบี้ย ดูแลลูกค้า-หนุนอสังหาฯ โตได้ต่อเนื่อง คาดปีนี้ปล่อยสินเชื่อพุ่ง 3 แสนล้านบาท เตรียมหั่นรายได้หลายพันล้านทอดเวลาลูกค้าแข็งแรง

วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชน ซึ่งภาครัฐก็ได้ออกมาตรการมาดูแล แต่ขณะนี้ผลกระทบตัวใหม่เกิดขึ้นจากภาวะสงคราม ส่งผลต่อต้นทุนในเรื่องของราคาสินค้าและพลังงาน ซึ่งก็จะกระทบต่อภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยด้วย แต่ไม่ได้กระทบทั้งหมด 100% จะเห็นว่าที่ผ่านมา กำลังซื้อของคนชั้นกลางและระดับบนยังอยู่ได้ จากสินเชื่อที่ธนาคารได้ปล่อยไป รวมถึงนโยบายดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาที่ทรงตัวในระดับต่ำ

ฉัตรชัย ศิริไล
ฉัตรชัย ศิริไล

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทุกคนมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องปรับเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% แต่หากเรามองย้อนไปในปี 58-59 จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.5% เราก็ยังอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่บทบาทของ ธอส.ก็ยังคงสนับสนุนให้คนไทยมีบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรากหญ้า ซึ่งปัจจุบัน ธอส. ปล่อยสินเชื่อให้ในโครงการบ้านล้านหลังแล้วถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการก็ได้ปรับตัวรองรับ

ทั้งนี้ ในปีก่อน เราสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 2.26 แสนล้านบาท ส่วนครึ่งแรกของปีนี้ ธอส.ปล่อยได้แล้วกว่า 1.06 แสนล้านบาท คาดทั้งปีจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 2.6-3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี จะต้องดูผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย แต่ก็ได้กันสำรองไว้แล้วถึง 180% ปัจจุบันเรามีสินทรัพย์สูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท

ขณะที่หนี้เสียนั้น ถ้าจะต้องปรับเพิ่มขึ้น มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเราเข้ามาแบกรับกลุ่มสินเชื่อที่ถูกปฏิเสธจากแบงก์พาณิชย์ ทำให้เราสามารถเข้ามาชดเชยตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ได้ แต่เราก็ยังคงบริหารความเสี่ยง ฉะนั้น ก็ขอให้เชื่อมั่นว่า ไม่ว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นอย่างไร ทางธนาคารก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนสินเชื่อ และมองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงไปได้

ทั้งนี้ ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนั้น หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5%ในเดือน ส.ค.นี้ เราจะปรับขึ้นในเดือน ต.ค.ในอัตราต่ำกว่าหรืออยู่ที่ 0.15% จากนั้น หาก กนง.ปรับขึ้นอีก เราจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงเดือน ม.ค.ปีหน้า

“ผลกระทบกับเรานั้น เราจะรับภาระไปประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้า เราเตรียมตัวไว้อีกหลายพันล้านบาท เพื่อดูแลผู้กู้ โดยเรามีหน้าที่ที่จะทอดเวลาเพื่อให้ลูกค้าแข็งแรง โดยจะไม่เอาทรัพย์ออกขาย แต่จะปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกค้าอยู่ได้”

ทั้งนี้ กรณีลูกค้าที่ต้องการจะรีไฟแนนซ์เงินกู้ควรจะพิจารณาถึงต้นทุนในภาพรวมด้วยว่า จะสูงกว่าอยู่กับแบงก์เดิมหรือไม่ หากคำนวณแล้วสูงกว่าก็ไม่สมควรที่จะรีไฟแนนซ์ ซึ่งในทางปฏิบัติหากลูกค้ายังเลือกที่จะอยู่กับแบงก์เดิม แนะนำว่า ลูกค้าควรไปปรึกษากับแบงก์เดิมเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้จะดีกว่า ทั้งนี้ ในส่วนของแบงก์เองพร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อลดภาระให้แก่ลูกค้า