ค่าเงินบาททรงตัว จับตาประชุมธนาคารกลางยุโรป

ธนาคารกลางยุโรป
The headquarters of the European Central Bank (ECB) (Photo by Daniel ROLAND / AFP)

ค่าเงินบาททรงตัว จับตาประชุมธนาคารกลางยุโรป วันที่ 21 กรกฎาคมนี้ มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี  ขณะที่ปัจจัยในประเทศผู้ว่าฯแบงก์ชาติระบุ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/7) ที่ระดับ 36.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/7) ที่ระดับ 36.60/62 บาท

ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค ท่ามกลางแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐ โดยในขณะนี้ขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กลายเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม หลังจากข้อมูลเงินเฟ้อ (ทั้ง CPI และ PPI) เดือนมิถุนายน ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าคาด และทำให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 100 basis points หรือ 1%  ในการประชุมรอบ 26-27 กรกฎาคมนี้

โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 30% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมวันดังกล่าว และให้น้ำหนัก 70% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.8% หลังจากลดลง 0.1% ในเดือน พ.ค. และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 9.1% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2524

โดยยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้นได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาพลังงาน และยอดขายรถยนต์ ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 0.8% หลังจากลดลง 0.3% ในเดือน พ.ค. และมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.1 ในเดือน ก.ค. โดย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.0

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ขณะที่ทางการคาดว่าเงินดอลลาร์อาจกลับมาอ่อนค่าได้หากตัวเลขเศรษฐกิจ และการคาดการณ์ต่อการดำเนินนโยบายของเฟดเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.53-36.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (18/7) ที่ระดับ 1.0086/88 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/7) ที่ระดับ 1.0037/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากอ่อนค่าผ่านแนว parity เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในฝั่งยุโรป

ในขณะที่ตลาดจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ โดยมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0079-1.0164 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0161/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้านี้วันนี้ (18/7) ที่ระดับ 138.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (15/7) ที่ระดับ 138.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังดอลลาร์อ่อนค่าจากแรงเทขายทำกำไร และบอนด์ยิลด์สหรัฐที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากตลาดรับข่าวการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในสัปดาห์ที่ผ่านมา และรอติดตามปัจจัยใหม่ในการประชุมเฟดสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.90-138.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.25/27 เยน/ดอลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือน ก.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -5.25/-4.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.25/-4.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ