จรีพร จารุกรสกุล ทีมเศรษฐกิจต้องรู้จุดแข็งประเทศเพื่อดึงลงทุน

“ประชาชาติธุรกิจ” โปรเจ็กต์ Future Thailand ชวนนักธุรกิจทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่มาร่วมมองอนาคตประเทศไทย ในช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ปี 2566 หลังจากที่มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

ล่าสุดได้ร่วมพูดคุยกับ “นางสาวจรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ถึงโจทย์ใหญ่ประเทศไทยหลังจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่ควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร

The Best of Regional

“ประเทศไทยมีอะไรที่ดีกว่าที่คิดและประเทศไทยก็มีอนาคตที่ดีกว่านี้มาก ๆ ถ้าเราเข้าใจในวิธีการขับเคลื่อนประเทศ” โดยส่วนตัวมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยสูงมาก เพราะเรามี strategic location ของประเทศไทยถือว่าเป็น “The best of regional” ทุนจากจีนที่เคลื่อนย้ายเข้ามาในอาเซียนนั้น ปรากฏประเทศไทยคือหนึ่งในเป้าหมายที่นักลงทุนต่างชาติจะมา

โดยเฉพาะหลัก ๆ ก็คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่ม EV อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มคอนซูเมอร์ ตรงนี้เป็นการตอกย้ำว่า ประเทศไทยเป็นจุดที่น่าสนใจเพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี แรงงานทักษะสูงที่ดี ยังมีสิทธิพิเศษด้านภาษี (tax privilege) ดึงดูดนักลงทุน แต่ตอนนี้ที่เราขาดไปก็คือ ความต่อเนื่อง เรากำลังอยู่ในโหมดของการเลือกตั้ง

เราอยากเห็นภาพรัฐบาลใหม่มาจุดชนวนเรื่องความต่อเนื่องเรื่องความเติบโตของประเทศ ดึงจุดสนใจของการลงทุนมาอยู่ที่เมืองไทย เพื่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตในบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

นโยบายเศรษฐกิจที่อยากเห็น

ตอนนี้ทำได้ดีระดับหนึ่งแล้ว แต่อยากจะเห็นเพิ่มเติมมากกว่านั้นคือว่า แทนที่เราจะเป็นจุดตั้งรับ แต่ลองคิดอีกแบบว่า เราลองแอปโพรชไปยังเขา ซึ่งเราต้องวางกลยุทธ์ (strategy) เลยว่า สิ่งที่เราต้องการดึงฐานการลงทุนรอบนี้ ไม่ใช่ไปแค่บริษัท แต่ต้องมาทั้ง “คลัสเตอร์” เราจะดึงคลัสเตอร์ไหนมา ดึงตัวแม่เหล็กไหนมาอยู่ที่ประเทศไทย

เพราะเมื่อแม่เหล็กมาแล้ว ซัพพลายเชนทั้งระบบจะตามมา อย่าง WHA มี build to suite ออกแบบเฉพาะเพื่อจะดึงให้มาลงทุนกับเรา โดยยึดตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดก็ได้ สิ่งสำคัญคือ เราต้องรู้ว่าเขาต้องการเรื่องอะไร

โดยการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนรอบนี้ กลุ่ม EV มาแล้ว ถัดมาเรามองการลงทุนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เรารู้ว่าเกิดปัญหาด้านตัว trade war สหรัฐกับจีนหรือไต้หวันที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้จะทำให้มีโอกาสเกิดการย้ายฐานอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ต้องวางกลยุทธ์ว่า จะดึงเทียร์ไหนมา แล้วภาครัฐและเอกชนต้องทำคืออะไร

นี่คือการบ้านที่เราต้องคิดและวาง strategy ไปดึงแอตแทร็กต์ในกลุ่มนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นต้องสร้างคอนเน็กทิวิตี้ต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทคนไทยไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ รายกลาง หรือรายเล็ก ได้ประโยชน์อะไรอย่างต่อเนื่องตรงนี้ อันนี้คือสำคัญมาก

ไทยยังไม่หมดเสน่ห์

ถ้าเทียบกันแล้วในอาเซียน เรายังมีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนอย่างมาก เรามักจะคิดว่าเราหมดโอกาสสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ “ซึ่งไม่ใช่” เพราะจุดแข็งเราและเพื่อนบ้านแตกต่างกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศเพื่อนบ้านทำงานแบบโปรแอ็กทีฟมาก รัฐบาลเขาไปดึงฐานลงทุนมาลงทุนค่อนข้างจะแอ็กทีฟมาก

ขณะที่ประเทศไทยก็มีหน่วยงาน อย่าง BOI แม้จะมีเลขาฯท่านใหม่ แต่แอ็กทีฟมาก สิ่งสำคัญก็คือ การทำงานร่วมมือกัน ในการวาง strategy เช่น ที่ประเทศจีนเกิดประเด็น “China Plus One” เราต้องให้พลัสวันคือ ประเทศไทย

ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม เราอยากจะให้นักการเมืองที่จะมารับหน้าที่ตรงนี้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเป็นอันดับแรกว่า รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพื่อให้เขามีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยสามารถซัพพอร์ตการลงทุนจากต่างชาติ ประเทศไทยจะสร้างฐาน infrastructure ให้แข็งแรง แข็งแกร่งขึ้น และจะมีการ connectivity ต่อเนื่อง จาก EEC

ถ้าสำเร็จใช้แพตเทิร์นนี้ทำต่อเนื่องไปภาคอื่น เช่น SEC ภาคใต้ หรือ NEEC ภาคอีสาน เชื่อมโยงกันได้แต่อย่าแข่งกัน แต่ละภาคจะมีจุดเด่นในแต่ละภาคไม่เหมือนกัน และต้องดูก่อนว่า ทรัพยากร หมายถึง “คน-เงิน” เรามีแค่ไหน เราทำทั้งประเทศไม่ได้

EEC เริ่มต้นจากฐานอีสเทิร์นอีโคโนมิกคอริดอร์ มีท่าเรือ มีสนามบิน สร้าง infrastructure เพิ่ม มี privilege ต่าง ๆ ถ้ากระตุ้นการลงทุนสำเร็จจะไม่ใช่แค่ 3 จังหวัด และถ้าทำเรื่อง “แลนด์บริดจ์” ต่อเนื่องเลยดีมาก ๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก ประเทศไทยจะเป็นจุดเดสติเนชั่นของนักลงทุนทั่วโลก

ถอดโมเดล BYD ดึงลงทุน

จากการที่ WHA ดึง BYD เข้ามาลงทุนสำเร็จทำให้เห็นว่า สิ่งที่ต้องทำคือ ต้อง “โปรแอ็กทีฟ” ก่อนอื่นรัฐบาลรู้ไหมว่า บริษัทหรือธุรกิจไหนจะย้ายออกจากจีน ข้อมูลตรงนี้ไม่ได้หายาก ถ้าประเทศเราอยากได้กลุ่มไหน ต้องทำอย่างไรเพื่อดึงเขามาให้ได้ ไปพบกับผู้บริหารระดับบนและแจ้งเขาว่า ประเทศไทยมีอะไรที่จะทำให้มั่นใจว่า มาลงทุนแล้วจะสามารถขยายต่อไปได้ เพราะเรื่องความมั่นใจ ความมั่นคงตรงนี้ ต้องขึ้นมา

เราต้องรู้ว่า บริษัทหรือธุรกิจไหนจะย้ายจากจีน และที่เขาออกจากจีนมาตรงนี้เพราะอะไร เพราะความไม่มั่นใจ ตรงนี้เราต้องให้ความมั่นใจว่า เขาเลือกมาที่ประเทศไทยแล้วจะขยายอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่าง BYD เป็นบริษัทระดับโลก เขาเซอร์เวย์ทั้งไทยและเวียดนาม

เรื่องของรถ ecosystem ไทยใหญ่มาก ประเทศไทยมีบุญเก่า มีฐานยานยนต์ญี่ปุ่นมานาน 30 ปี ทำให้มีคลัสเตอร์ยานยนต์ ถัดมา infrastructure ไทยก็ดีกว่า พลังงานมีความมั่นคง เรื่องน้ำหรือเรื่องคนงานมีทักษะดีมาก แถมรัฐบาลยังมี tax privilege เข้ามาให้ เช่น ที่สรรพสามิตลดภาษี 150,000 บาทต่อคัน กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเข้ามาเร็วขึ้น เราก็หวังว่า BYD ก็จะดึงเพื่อนในซัพพลายเชนตามเข้ามาด้วย

และตอนนี้มีลูกค้ารายใหญ่ของ WHA เตรียมที่จะเข้ามาลงทุนที่เมืองไทย เขาขอดีเลย์การตัดสินใจเพราะอยากจะดูรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง นโยบายเป็นอย่างไร ยังสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติอยู่หรือเปล่า ตรงนี้สำคัญมาก เพราะธุรกิจถึงเวลาที่เขาลงทุนเป็น 10,000 ล้าน เป็น 100,000 ล้านบาท เวลาเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถถอนทุนไปในระยะเวลาสั้น ๆ ภายใน 1-2 ปีได้ เขาอยู่กับเราเป็น 10 ปีเป็นอย่างน้อย

แม้ตอนนี้บุญเก่าของเรายังเหลืออีกนาน แต่เราต้องทำบุญใหม่เรื่อย ๆ ปรับเรื่อง infrastructure เรื่อง privilege tax ต่าง ๆ ถ้าเราไม่มีเรื่องนี้ก็คงไม่สามารถจะดึงตรงนี้มาได้ จะเห็นว่าก่อนมี EEC ประเทศเรา FDI ดรอป เพราะเราไม่มีแม็กเนตอะไรดึงนักลงทุนจากต่างชาติ แต่พอมี FDI เราเริ่มดีขึ้น มี privilege ต่าง ๆ ตั้ง 12 นิวเอสเคิร์ฟเพราะรู้แล้วว่า อนาคตโลกจะไปทางไหน ซึ่ง privilege ต่าง ๆ ต้องไปด้วยกัน

ดังนั้นในการที่จะดึงเศรษฐกิจ การลงทุนมาให้ได้คือ “ภาพใหญ่” ถ้าดึงมาได้ ช่วยได้ทั้งระบบ ไม่ได้ห่วงบริษัทขนาดใหญ่ แต่ห่วงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมากกว่าว่า competitiveness สู้เขาได้ไหม หรือเรื่อง climate change

สุดท้ายซัพพลายเชนจะถูกบังคับให้ต้องปรับ ซึ่งภาครัฐต้องเข้ามาช่วยดู ให้ความรู้กับผู้ประกอบการ SMEs นอกจากนี้ ที่สำคัญมาก ๆ เรื่องหนึ่งก็คือ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงมาก ๆ ต้องระวัง ก่อนจะเกิดไปเป็นปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบทั้งหมด

หน้าตารัฐบาลในฝัน

ไม่ว่าหลังการเลือกตั้งแล้วผู้ที่จะมารับหน้าที่บริหารประเทศครั้งนี้จะมาจากทหารหรือนักธุรกิจหรือใครก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงแบ็กกราวนด์ในอดีตเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อไรที่คุณเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ แปลว่า ต้องมีความผิดชอบอันใหญ่หลวง ต้องดูแลภาพรวมทั้งหมด

ไม่ใช่แค่เรื่องเดียวหรือเพียงแค่นโยบายพรรค การสร้างเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ คนที่จะมาอยู่ตรงนี้ต้องแอ็กทีฟ เข้าใจ ต้องมีคอนเน็กชั่นที่ดีทั่วโลก เศรษฐกิจไม่ใช่แค่มองภาพใหญ่ ต้องมองภาพต่อเนื่อง ทั้งมหภาคระดับประเทศ SMEs ภาพองค์รวมทั้งหมด

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะทำงานเพียงลำพังไม่ได้ จำเป็นต้องมีทีมที่มองไดเร็กชั่นต้องไปในทิศทางเดียวกัน อย่างในภาพเศรษฐกิจ “ทีมเศรษฐกิจ” ต้องเข้าใจในบริบทของประเทศไทย รู้จุดแข็งของไทย และรู้และเข้าใจบริบทและการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง “ต้องดีขึ้น” โดยเฉพาะด้านการลงทุน

เรามีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น ปีก่อน WHA ทำออลไทม์ไฮ ปีนี้แค่เดือนมีนาคมก็ดีมาก ปัจจัยบวกจากจีนเปิดประเทศ ส่วนเรื่องแบงก์สหรัฐล้มไม่ได้กระทบเรามากนัก เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และที่สำคัญเราไม่ได้เลือกตั้งมา 4 ปีแล้ว คนที่อาสาเข้ามาต้องไฟแรง

ใครที่ไม่เคยเป็นรัฐบาล ถ้ารอบนี้ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็คิดว่า มีไฟแรงจะต้องสร้างผลงานให้เห็น รัฐบาลอยู่ด้วยผลงาน หรือการที่ท่านเป็นอดีตมาแล้วเป็นรัฐบาลต่อไปก็คงเห็นแล้วว่า การบริหารที่ผ่านมามีจุดแข็งตรงไหน จุดอ่อนตรงไหน และก็ฟอร์มทีมชุดใหม่ เพราะท่านคือความหวังของประชาชนทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อฟังเรื่องนโยบายหาเสียง “ทุกพรรคแข่งกันให้” เราเข้าใจว่า ประชาชนก็ต้องการรู้ว่า เลือกแล้วจะได้อะไรที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่เราอยากให้ช่วยฉายภาพว่า รัฐบาลจะหาเงินมาได้อย่างไรเป็นสิ่งแรกก่อน เพราะการจะใช้เงินต้องหาเงินให้ได้ก่อน อย่าพูดแต่เรื่อง “ให้” แต่ต้องพูดถึงเรื่อง “หา” ด้วย ถ้าท่านตอบได้ ท่านได้รับการโหวตแน่นอน