ชัชชาติ ตอบปมกฎหมายที่ดิน กระบวนการยังอีกยาวไกล

ภาษีที่ดิน

“ชัชชาติ” กล่าวถึงกรณีการกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามสีผังเมืองว่าขณะนี้ดำเนินการ 2 ขาคู่กันไป คือ สอบถามกระทรวงการคลังและศึกษาผลกระทบ

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณี “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งแตกต่างจากภาษีเดิมคือภาษีโรงเรือน โดยภาษีทั้ง 2 อย่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเรื่องของฐานภาษี

ฐานภาษีของภาษีโรงเรือนนั้นจะเป็นรายได้จากโรงเรือน แตกต่างจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเก็บจากราคาประเมินและในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกำหนดเพดานภาษีไว้ ซึ่งเมื่อประกาศใช้นั้นต่ำกว่ากรอบ ขณะเดียวกันนั้นท้องถิ่นสามารถปรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เองแต่ห้ามเกินเพดานที่กฎหมายกำหนด นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติยังกล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครไม่ได้ต้องการภาษีเพิ่ม แต่มันเกิดจากเกษตรกรรมกลางเมืองซึ่งเป็นสิทธิของเขา เพราะเขาปลูกต้นไม้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้แล้ว ขณะเดียวกันก็ยังมีช่องว่างระหว่างภาษีที่เก็บจริงกับเพดานตามกฎหมายอยู่

จึงมีแนวคิดว่า กทม.ไม่ได้ต้องการให้เจ้าของที่ดินทำการเกษตรที่ไม่ใช่การเกษตรจริง ๆ จึงมีแนวคิดว่าจะนำผังเมือง โดยเฉพาะโซนสีแดงมากำกับอัตราภาษี คือในการเกษตรในพื้นที่ผังเมืองสีแดงสามารถใช้อัตราภาษีเต็มกรอบได้หรือไม่ นายชัชชาติกล่าว

ซึ่ง กทม.ได้ทำหนังสือเพื่อถามไปยังกระทรวงการคลังแล้ว แม้กระทรวงการคลังจะมีหนังสือตอบกลับมา ก็ต้องใช้ระยะเวลาเพื่อศึกษาในรายละเอียดว่าพื้นที่การเกษตรมีกี่แปลง เกษตรกรจริง ๆ มีกี่แปลง จะเยียวยาเกษตรกรจริง ๆ ได้อย่างไร และจะกำหนดโซนผังเมืองสีใดบ้าง เป็นต้น นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติยังกล่าวอีกว่า อัตราที่เพิ่งขึ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจในการเชิญให้เอกชนนำที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาให้ กทม. ใช้ประโยชน์ประมาณ 7 ปี แลกกับไม่ต้องเสียภาษี