ติดโควิด ไม่ต้องกักตัว ?

โควิด ไม่ต้องกักตัว ?
ภาพจาก pixabay
PRACHACHAT In BRIEF

โควิด-19 กำลังจะกลายเป็นโรคเฝ้าระวัง มีมาตรการอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง

วันที่ 20 กันยายน 2565 ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

กระทรวงสาธารณสุขให้เหตุผลว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มผู้ป่วยอาการรุนแรง และอัตราการเสียชีวิต ลดลง ส่วนในประเทศ วัคซีนก็มีเพียงพอ ประชาชนได้รับวัคซีนครอบคลุมในระดับสูง มีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้น

วันเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎกระทรวง ยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากการเป็นโรคต้องห้าม สำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

วันต่อมาคือ 21 กันยายน มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

หลังการประชุม นายอนุทินแถลงว่า จะปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ อย่างปลอดภัย ภายใต้การพิจารณาอย่างสมดุล ทั้งมุมมองด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 และมาตรการเฝ้าระวังรองรับการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ระหว่างตุลาคม 2565 ถึงกันยายน 2566 ซึ่งมีมาตรการหลายข้อ และสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก เช่น ยกเลิกแสดงเอกสารวัคซีน และผลตรวจ ATK ก่อนเข้าประเทศ ยกเว้นโรคไข้เหลือง

ขั้นตอนต่อมา ยกเลิกการสุ่มตรวจสอบบันทึกการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยยังคงเฝ้าระวังผู้เดินทางที่มีอาการป่วยของโรคติดต่ออันตราย หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่

ที่สำคัญคือ ปรับมาตรการแยกกักสำหรับผู้ป่วยอาการน้อย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ เหลือเพียงปฏิบัติตามมาตรการ DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

ส่วนประชาชนทั่วไปให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเอง เมื่อเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศไม่ถ่ายเท และให้ตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

นอกจากนี้ยังแนะนำหน่วยงานองค์กรคัดกรองอาการป่วยพนักงานเป็นประจำ หากจำเป็นอาจตรวจคัดกรองด้วย ATK ในพนักงานป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ และใช้หลัก COVID Free Setting

ในวันที่ 23 กันยายน กระทรวงสาธารณสุขจะรายงานให้ ศบค. ชุดใหญ่รับทราบ ถึงมติและแผนปฏิบัติการ และมาตรการที่กล่าวมาทั้งหมด

หลังจาก ศบค. ชุดใหญ่ เห็นชอบ จะส่งผลให้การควบคุมโรคโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ไม่เป็นโรคติดต่ออันตรายอีกต่อไป น่าจับตาว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะถูกประกาศด้วยหรือไม่ และประกาศเมื่อไร