กอนช. เตือน 4 จังหวัดริมเจ้าพระยา-ป่าสัก รับมือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

น้ำท่วม ระบายน้ำ
ภาพจาก สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 พระนครศรีอยุธยา

กอนช.เตือนเฝ้าระวัง ระดับแม่น้ำป่าสัก-เจ้าพระยา 4 จังหวัด น้ำเพิ่มสูง ประชาชนเตรียมรับมือ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด จับตาปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนเขื่อนเจ้าพระยายังควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่อ่างเก็บน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำเพิ่มเป็น 23 แห่ง

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศฉบับที่ 47/2565 ระบุว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 อิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ในช่วงวันที่ 3-9 ตุลาคม 2565 ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อรักษาเสถียรความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สำหรับการปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร

ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และส่งผลให้เกิดน้ำอัดไหลย้อนเข้ามาในแม่น้ำน้อย ทำให้ระดับแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งได้หน่วงน้ำ โดยการผันน้ำเข้าไปเก็บในทุ่งบางระกำเต็มความจุแล้ว และมีน้ำหลากจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากจังหวัดชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณอำเภอเมืองชัยนาท และมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

2.เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

3.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง หน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานีให้เตรียมป้องกันน้ำระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่

4.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกิดพื้นที่น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-3 ต.ค. 65 บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี สระแก้ว ปราจีนบุรี และพังงา

โดยปริมาณน้ำทั่วประเทศ มีแหล่งน้ำทุกขนาดรวม 62,885 ลบ.ม. (77%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 52,449 ล้าน ลบ.ม. (77%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง บริเวณภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำจำนวน 23 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง สิรินธร ขุนด่าน คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด