เครือข่ายประกันสังคมค้านใช้ ม.44 “เลือกตั้ง” บอร์ดสปส.ชุดใหม่

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ได้ระบุชัดในมาตรา 8 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการร่างเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งก็เข้าใจว่าทางกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังดำเนินการ ซึ่งกรณีที่ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ติดที่ใช้งบถึง 3,000 ล้านบาท ข้อเท็จจริงแล้ว งบดังกล่าวเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าไปหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ซึ่งกำหนดตัวเลขจากการเลือกตั้งทั่วไปอยู่ที่ประชากรรายละ 87 บาทต่อคน งบประมาณเลือกตั้งทั้งหมดก็น่าจะประมาณ 3,000 ล้านบาท

นายมนัสกล่าวว่า ตัวเลขผู้ประกันตนจริงๆ มีอยู่ที่ 13 ล้านคน ก็จะเท่ากับ 1,131 ล้านบาท ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่รัฐมนตรีฯให้สัมภาษณ์อาจหมายถึงตัวเลขภาพรวมการเลือกตั้ง หรือมีการคำนวณอย่างไร แต่จริงๆแล้ว ทาง คปค.เสนอทางออก ซึ่งประหยัดงบได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยที่ผ่านมา คปค.ได้ทำหนังสือเสนอไปยัง นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เกี่ยวกับโมเดลระเบียบการเลือกตั้ง โดยการเลือกบอร์ดครั้งนี้ จะแตกต่างจากบอร์ดชุดเดิม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 ซึ่งหมดวาระไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 วาระละ 2 ปี และเดิมกรรมการมีจำนวน 15 คน ฝั่งละ 5 คน ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง แต่ในกฎหมายใหม่ระบุให้มีทั้งหมด 21 คน ฝ่ายละ 7 คน

ประธาน คปค. กล่าวอีกว่า โดยโมเดลของ คปค.เสนอว่า ให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 77 เขต ใช้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดในการดำเนินการ และผู้ประกันตนมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง สำหรับการเลือกนั้น จะแบ่งออกเป็นฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง อย่างฝ่ายลูกจ้างจะทำการเลือกผู้แทนเข้าไปในบอร์ดฯจำนวน 7 คน โดยใช้วิธีคัดเลือกจากพื้นที่แบ่งเป็นขั้นต่ำพื้นที่ไหนมีผู้ประกันตน 150,000 คน ให้มีผู้แทน 1 คนลงสมัครเป็นตัวแทนเข้าบอร์ด ขณะที่นายจ้างให้พิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีนายจ้างรวม 5,000 คนให้มีผู้แทน 1 คนเชิง ซึ่งรวมทั้งประเทศจะมีผู้แทนทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 125 คน หลังจากนั้นก็ให้มีการเลือกออกมาให้ได้ฝ่ายละ 7 คน

“ส่วนที่ว่าต้องมีการพิจารณา เพื่อให้ประหยัดงบประมาณ อาจมีข้อเสนอเรื่อง ม.44 แต่งตั้งบอร์ดสปส. อีกครั้งนั้น ทางเราไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาบอร์ดชุดเดิมก็มาจาก ม.44 ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว และเราก็มีพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ในม.8 ก็ระบุชัดว่าต้องเลือกตั้ง จึงควรปฏิบัติตามกฎหมาย” นายมนัสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ม.8 ให้มีการจัดทำระเบียบเลือกตั้งภายใน 180 วันแต่จนขณะนี้ยังไม่มี ถือว่าผิดหรือไม่ นายมนัสกล่าวว่า ก็เข้าใจว่าอาจติดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งเราก็ไม่อยากต้องไปฟ้องศาลปกครอง แต่เราใช้วิธีในการเจรจากันก่อน ทราบว่ามีการดำเนินการอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่างบการเลือกตั้งใช้จากกองทุนประกันสังคมจะไม่กระทบหรืออย่างไร นายมนัสกล่าวว่า จากที่เคยหารือกันทราบว่าจะใช้งบบริหารจัดการของสำนักงานฯประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเอามาจากดอกผลของเงินสมทบทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งดอกผลดังกล่าวปกติก็นำมาใช้ในเรื่องของการบริหารจัดการของสำนักงานอยู่แล้ว เช่น เบี้ยประชุม หรือการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ไม่ได้กระทบผู้ประกันตน ในทางกลับกัน การมีการเลือกตั้งเช่นนี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตน เพราะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาการคัดเลือกกรรมการเข้ามานั่งในบอร์ดฯ ในส่วนของผู้ประกันตนจะมาจากสหภาพแรงงานแห่งละ 1 เสียง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป เพราะบางสหภาพก็อาจมีคนไม่ถึงพันก็มี ดังนั้น การเลือกตั้งจะทำให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้แทนเพื่อมารักษาสิทธิประโยชน์ของตน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์