“ชัชชาติสัญจร” เรื่องน้ำ ขอบึงธรรมชาติให้ กทม.ทำแก้มลิง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

แคมเปญ “ชัชชาติสัญจร” มาถึงคิวตรวจเยี่ยมสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

โดยทุกครั้งจะยึดโยงการทำงานเข้ากับนโยบาย “9 ด้าน 9 ดี” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นนโยบายหาเสียง ปัจจุบันเลื่อนสถานะเป็นนโยบายสร้างผลงานเพื่อเก็บแต้มทางการเมือง

3 ด้าน 3 ดีเรื่องน้ำ

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 ระบุว่า สำนักการระบายน้ำ จะรับผิดชอบเรื่องระบายน้ำและดูแลน้ำเสียเป็นหลัก ยึดโยงได้กับนโยบาย 3 ด้าน 3 ดี ได้แก่ “เดินทางดี-โครงสร้างดี-สิ่งแวดล้อมดี”

นโยบาย “เดินทางดี” ภารกิจสำคัญปรับปรุงทางเดินริมคลองที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ทางเดินริมคลองแสนแสบ โดยเฉพาะช่วงที่ผู้รับเหมาทิ้งงานบริเวณ มศว.ประสานมิตร

นอกจากนี้มีระบบแสงไฟระหว่างทาง และนโยบายการเชื่อมโยงทางเดินตั้งแต่ภูเขาทองถึงมีนบุรี โดยมีการพิจารณาเพิ่มอีก 2 คลองดัง คือ “คลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร”

ส่วนฝั่งธนบุรีมี “คลองภาษีเจริญ” ที่จะทำทางเดินริมน้ำให้เกิดความต่อเนื่อง

ถอดบทเรียนปี 2565

ปี 2566 มีแผนดำเนินงานสำคัญ ประกอบด้วย “จุดเสี่ยงน้ำท่วม” จาก 9 จุดตั้งเป้าลดให้เหลือ 6 จุด, “จุดเฝ้าระวัง” ตั้งเป้าลดลงจาก 48 จุดเหลือ 43 จุด

รวมถึงถอดบทเรียนปี 2565 ซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม 419 จุด ที่ผ่านมาหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินการแก้ไขโดยไม่มีวันหยุด ทั้งการล้างท่อระยะทางยาว 3,358 กิโลเมตร จากจำนวนกว่า 6,000 กิโลเมตร

แผนดำเนินการปี 2566 จะล้างท่อเพิ่มเติมอีก 4,000 กิโลเมตร โดยเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่บัดนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีฝนตกลงมาก็ตาม

ในส่วนของ “ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน” ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการที่ชุมชนคลองแสนแสบ เพื่อให้น้ำที่บำบัดโดยชุมชนสามารถปล่อยลงคลองได้ โดยไม่สร้างมลพิษ

ควบคู่กับ “ระบบบำบัดน้ำเสียในตลาด กทม.” 12 แห่ง ปัจจุบันออกแบบแล้ว 7 แห่ง ดำเนินการในแฟลต กทม. 6 แห่ง และติดตั้งบ่อดักไขมันในชุมชนเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง จำนวน 3,000 ลูก จากเป้าหมาย 17,000 ลูก

ปลดล็อก “บึงธรรมชาติ”

หนึ่งในแพ็กเกจแผนน้ำในปี 2566 ในด้าน “การขุดลอกคลอง” ปี 2565 ขุดลอกแล้ว 99 คลอง ความต่อเนื่องในปี 2566 วางแผนขุดลอกเพิ่มเติม 162 คลอง

ทั้งนี้ ฝากถึงประชาชนผู้ที่มีพื้นที่บึงธรรมชาติ และจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง (property tax) เท่ากับพื้นที่ปกติ หากไม่ต้องการเสียภาษีก็ขอให้ยกให้ กทม.ทำเป็นแก้มลิง เพื่อประโยชน์ในการดักน้ำ ลดปัญหาน้ำท่วม

ตามแนวทางนี้ถือว่า “วินวิน” เจ้าของที่ดินที่กอดโฉนดไว้ แต่สภาพที่ดินกลายเป็นบึงธรรมชาติ ก็ไม่ต้องรับภาระจ่ายภาษีที่ดินฯ ส่วน กทม.ก็ได้ที่ดินบึงธรรมชาติทำเป็นแก้มลิงเพื่อรับน้ำ-พร่องน้ำ

นอกจากนี้ กทม.ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซม “แก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำและคลองสายหลัก” พบจุดที่มีปัญหา 119 จุด

ได้รับงบประมาณเพื่อแก้ไขแล้ว 24 จุด อยู่ระหว่างของบประมาณปี 2566 (งบฯเพิ่มเติม) 22 จุด, ของบประมาณปี 2566 (งบฯกลาง) จำนวน 2 จุด, ของบประมาณปี 2567 จำนวน 9 จุด และสำรวจออกแบบเพิ่มเติม 49 จุด

ทบทวนอุโมงค์-บำบัดน้ำเสีย

สำหรับแผน “ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน” ได้ทบทวนความเหมาะสมแล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการ ซึ่งจะของบประมาณปี 2567 แบ่งเป็นงบฯอุดหนุน 70% งบฯ กทม. 30%

การติดตั้งเซ็นเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ หรือการติดตั้งระบบ SCADA สั่งการทางไกล ดำเนินการแล้ว 34 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 30 แห่ง

งานใหญ่ “ระบบบำบัดน้ำเสียรวม” สถิติในกรุงเทพฯ มีน้ำเสียกว่า 2 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน สามารถบำบัดได้ 1 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทบทวนแผนแม่บทการจัดการน้ำเสีย กทม. เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าให้มากที่สุด

รวมทั้งการก่อสร้างอุโมงค์ 4-5 แห่งก็อยู่ในระหว่างการทบทวนความคุ้มค่าเช่นกัน

ผนึก พอช.ดูแลผู้รุกล้ำ

ในด้านการบำรุงรักษาและตรวจสอบ 6 รายการ คือ “อุโมงค์ระบายน้ำ-สถานีระบายน้ำ-ประตูระบายน้ำ-อุโมงค์ทางลอด-บ่อสูบน้ำ-เครื่องสูบน้ำ” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือน้ำเต็มที่

อย่างไรก็ตาม “ผู้ว่าฯชัชชาติ” แจกแจงว่ามีสิ่งที่กังวลคือการทำเขื่อนคันกั้นน้ำ “คลองเปรมประชากร-คลองลาดพร้าว” ที่มีปัญหาผู้รุกล้ำคลองยังไม่ยอมย้ายออก

“ขอความร่วมมือผู้รุกล้ำให้ย้ายขึ้นสู่บ้านมั่นคง ไม่ต้องรุกล้ำคลอง มีที่พักอาศัยมั่นคงขึ้น สามารถทำเขื่อนให้แล้วเสร็จได้ก็จะช่วยป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ภารกิจในส่วนนี้ ได้บูรณาการทำงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ในการสร้างบ้านมั่นคงรองรับผู้รุกล้ำริมคลอง ให้ย้ายมาอยู่บ้านมั่นคงแทน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีกว่าเก่า มั่นคงกว่าเดิม