เปิดสาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

สื่อ
ภาพจาก PIXABAY

เปิดสาระสำคัญ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือที่ถูกเรียกขานวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานี้ว่า “พ.ร.บ.คุมสื่อ” เข้าสู่การพิจารณาของสภาร่วมในวันนี้ (7 ก.พ.) 

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยร่างกฎหมายฉบับนี้เดินทางมาถึงการพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันนี้ (7 ก.พ. 2566)

สื่อ
ภาพจาก PIXABAY

“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีเนื้อหาดังนี้

1.กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าว หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพ และไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

2.กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิ์ปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งใดที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชน โดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิ์ดังกล่าวต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย

3.ให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์กรสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการปฏิบัติตามจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชนและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

4.สภาวิชาชีพฯ มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การรับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ส่งเสริมการคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ปฏิบัติตามจริยธรรม ติดตามดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้เป็นไปตามจริยธรรม ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน ฯลฯ

5.คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ การบริหารกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม พิจารณาการขอจดแจ้งและเพิกถอนการจดแจ้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน

พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่มีการละเมิดเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์พิจารณาอุทธรณ์คัดค้านผลการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรม พิจารณารับรองหลักสูตรหรือการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองหรือส่งเสริมจริยธรรมสื่อมวลชน ฯลฯ

6.ให้คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน จัดให้มีสำนักงานสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อทำหน้าที่ด้านธุรการและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาและคณะกรรมการสภา

7.ให้คณะกรรมการสภา แต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมจำนวน 7 คนจากกรรมการสภา 2 คน ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 1 คน และผู้แทนนักวิชาการสื่อฯ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคและสภาทนายความ อีกด้านละ 1 คน โดยมีหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน

8.คณะกรรมการจริยธรรรมมีอำนาจตรวจสอบและพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกร้องเรียนไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่จดแจ้งกับสภา เท่านั้น ในกรณีที่เป็นเรื่องร้องเรียนที่อยู่ในอำนาจขององค์กรวิชาชีพที่จดแจ้งแล้ว จะต้องส่งให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นพิจารณา โดยคณะกรรมการจริยธรรม

และสภาวิชาชีพสื่อมวลชนจะเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ (ตามหลักการกำกับดูแลกันเองของสื่อ) เว้นแต่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนนั้นเพิกเฉยดำเนินการพิจารณาเรื่องร้องเรียน หรือดำเนินการพิจารณาต่ำกว่ามาตรฐานจริยธรรมที่สภาวิชาชีพกำหนด

9.โทษจากการฝ่าฝืนจากการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชน ได้แก่ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเผยต่อสาธารณชน ทั้งนี้ อาจสั่งให้มีการเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนด้วย และในกรณีที่คณะกรรมการจริยธรรมเห็นว่าการฝ่าฝืนจริยธรรมเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย จะแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไปก็ได้

10.กำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยธุรการของสภา และมีคณะกรรมการสภาชั่วคราวจำนวน 11 คน จากกรมประชาสัมพันธ์ กสทช. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่จัดทำข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศ เท่าที่จำเป็น เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวิชาชีพ ฯลฯ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ

และดำเนินการให้มีคณะกรรมการสภา ชุดแรกภายในเวลา 270 วัน (เมื่อครบ 2 ปี กรรมการชุดแรกจะต้องมีการจับสลากออกจำนวน 4 คน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของคณะกรรมการสภา)

โดยการเสนอกฎหมายที่ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ ร่าง พ.ร.บ.สื่อฯ มีทั้งหมด 49 มาตรา 5 หมวด และ 1 บทเฉพาะกาล

ขณะที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเป็นความพยายามของรัฐที่จะมาควบคุมสื่อหรือไม่

สมาคมนักข่าวฯเสนอถอนร่าง ชี้ร่างไว้นาน บริบทเปลี่ยน ต้องทำใหม่

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เสนอถอน “ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีเนื้อหาดังนี้

“ตามที่จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยมีการบรรจุวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณา ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …’ ตามที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอบรรจุอยู่ในวาระ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ออกจากการพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพราะร่างกฎหมายนี้ดำเนินการร่างและผ่านขั้นตอนยาวนาน ขณะที่บริบทและสังคมสื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก ยังมีเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะกับยุคสมัย และมีสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้น ไม่เข้าใจที่มาและหลักคิด แนวทางของกฎหมายฉบับนี้

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย พบว่ากำลังมีการถกเถียงครั้งใหญ่ในวิชาชีพสื่อมวลชน ของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ที่มีความกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติในหลายมาตรา และขาดการมีส่วนร่วมของคนในวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างทั่วถึง

เปิดประเด็นกังวล ตั้งสภาวิชาชีพ ให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นกรรมการวาระแรก

พร้อมกับกังวลประเด็นการเปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจแทรกแซงความอิสระของสื่อมวลชนและทำลายกลไกการกำกับดูแลกันเอง โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และที่มาของรายได้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะร่าง พ.ร.บ.ระบุในบทเฉพาะกาลให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการในวาระเริ่มแรก

รวมทั้งให้รัฐบาลจ่ายเงินให้ทุนประเดิมและจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่าย รวมถึงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมปีละไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่ารัฐสภาควรคำนึงถึงการรับรู้ และความมีส่วนร่วมของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายใด ๆ โดยตรงในฐานะเจ้าภาพที่ย่อมรู้ว่ากฎหมายจะเข้าสภาช่วงเวลาใด สมควรที่จะกำหนดเวลาจัดเวทีสาธารณะล่วงหน้า

เพื่ออธิบายให้เข้าใจในวงกว้าง และก็ให้หลักประกันในหลักการที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมที่เกี่ยวข้อง แต่กลับละเลยเหมือนไม่ให้ความสำคัญกับผู้ที่จะถูกบังคับใช้และเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ และมีทีท่าจะเร่งรีบรวบรัดให้กฎหมายออกมามีผลบังคับใช้ใน 3 วาระ

จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีถอนร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวออกจากการประชุมร่วมของรัฐสภา และดำเนินการจัดเวทีเพื่อชี้แจงต่อสาธารณะ ตอบคำถามและรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะแวดวงสื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายโดยตรง มิฉะนั้นจะเป็นการบังคับปฏิรูปที่ทุกภาคส่วนไม่ได้มีโอกาสที่จะร่วมกัน”

แถลงการณ์
ภาพจากเว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association
แถลงการณ์
ภาพจากเว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association