ศาลเเพ่งยกฟ้องยึดทรัพย์ 4,000 ล้าน “กลุ่มบ.โอเอ” คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ

เมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาคดีฟอกเงินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้อง ขอให้ทรัพย์สิน นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 1 นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 2 นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 3 บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้คัดค้านที่ 4 บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้คัดค้านที่ 5 บริษัท รอยัลไทย เฮิร์บ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 6 บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 7 บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด ผู้คัดค้านที่ 8 น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 9 นายโอฬาร โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 10 และนายชาติชัย โรจน์รุ่งรังสี ผู้คัดค้านที่ 11 ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการทัวร์ศูนย์เหรียญ ประกอบด้วย

เงินฝากในบัญชีธนาคาร รวม 76 รายการ ราคาประเมินทั้งสิ้น 3,654,697,354.46 บาท เงินวางประกันซื้อขายทองคำแท่ง เงินฝากในบัญชี และหุ้นกับเงินคงเหลือในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ 7 รายการ ราคาประเมิน 203,031,134.87 บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจาก ปปง.ตรวจสอบธุรกรรมและทรัพย์สินของบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด กับพวก พบว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิด ฐานอั้งยี่ เป็นความผิดมูลฐานตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ มาตรา 3 (10)

จึงได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัดและผู้คัดค้านทั้ง 11 คน ไว้ชั่วคราว ระหว่างการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบกิจการนำนักท่องเที่ยวจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ในราคาต่ำกว่าทุนหรือทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่มีรายได้จากเงินค่าตอบแทนลูกทัวร์ซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง มีกลุ่มของผู้คัดค้านเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นในบริษัทสินค้าและบริษัทที่ให้บริการเช่ารถบัส อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 24 , 32 กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด กับกลุ่มผู้คัดค้าน มีพฤติการณ์ตามความผิดมูลฐาน ปปง.จึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ไม่ได้มีพฤติการณ์กระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่ และไม่ได้รู้เห็นเรื่องการสวมบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่น รวมทั้งไม่รู้เห็นเรื่องการจดทะเบียนบริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และบริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด รวมทั้งไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในประเทศไทยในราคาต่ำกว่าทุนกับไม่ได้เข้าไปมีส่วนเห็นบริหารจัดการธุรกิจนำเที่ยวหรือช่วยเหลือให้การสนับสนุนกระทำความผิดดังกล่าว แต่ผู้คัดค้านประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสโดยสาร และจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวโดยสุจริต ซึ่งก่อตั้ง บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ดำเนินการซึ่งบุคคลทั่วไปรวมทั้งบริษัทนำเที่ยวสามารถขอเช่ารถบัสและแวะซื้อสินค้าในเครือของผู้คัดค้านได้

โดยกลุ่มผู้คัดค้านไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจบังคับให้บริษัทนำเที่ยวกำหนดเส้นทางการนำเที่ยวได้ เพียงแต่พนักงานขับรถจะขับรถไปตามเส้นทางและสถานที่ท่องเที่ยวที่กำหนด หากขับรถออกนอกเส้นทางผู้คัดค้านจะเรียกค่าเช่ารถในส่วนนอกเส้นทางเพิ่มเติมจากบริษัทนำเที่ยว ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าน้ำมันให้กับบริษัทนำเที่ยวอัตราร้อยละ 20-40 และจ่ายให้มัคคุเทศก์อัตราร้อยละ 3-5 ของยอดขายสินค้านั้น เป็นการจ่ายทางการค้าและถือเป็นประเพณีปฏิบัติที่มีมานานทั้งในและต่างประเทศ

และผู้คัดค้านก็ไม่เคยนิติสัมพันธ์ หรือ ร่วมกระทำการใดกับผู้บริษัท ฝูอัน ฯ และบริษัทซินหยวนฯ และไม่เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงหรือใช้เอกสารปลอม ในการจดทะเบียนตั้งบริษัท ขณะที่ธุรกิจของผู้คัดค้านไม่เคยถูกนักท่องเที่ยวหรือหน่วยงานของรัฐร้องเรียน ตักเตือน หรือลงโทษตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ อีกทั้งการประกอบธุรกิจของผู้คัดค้านก็ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ที่จะต้องให้ธุรกิจเช่ารถบัสหรือการขายสินค้าเป็นธุรกิจนำเที่ยวที่ต้องยื่นใบขออนุญาตประกอบการ

ศาลได้ไต่สวนอัยการผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า บริษัท ฝูอัน ฯ และบริษัทซินหยวน ฯ จดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยว ฯ แต่ปัจจุบันนายทะเบียนได้เพิกถอนการจดทะเบียนแล้ว ส่วนกลุ่มผู้คัดค้านบางคนถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา ร่วมกันฟอกเงิน ในคดีหมายเลขดำ ฟย.46/2559 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง การกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดในคดีนี้หรือไม่ ตามทางไต่สวนฟังได้ว่า การดำเนินธุรกิจของผู้คัดค้านเป็นการให้เช่ารถบัสเท่านั้น จึงไม่อยู่ภายในบทบังคับของพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวฯ พยานหลักฐานยังฟังไม่ได้ว่ากลุ่มผู้คัดค้านเป็นผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือร่วมกับบริษัท ฝูอัน ฯ และบริษัทซินหยวน ฯ

สำหรับทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัดไว้นั้น จะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานอั้งยี่ เป็นความผิดมูลฐานที่จะต้องให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ ศาลเห็นว่า ผู้ร้องมีพยานเพียง 3 ปากเบิกความเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของบริษัท ฝูอัน ฯ และบริษัทซินหยวน ฯกับกลุ่มผู้คัดค้าน แต่พยานเหล่านั้นไม่ได้ลงไปตรวจสอบการดำเนินธุรกิจของผู้พิพากษาด้วยตนเอง อีกทั้งไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวหรือเจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวแต่อย่างใด แม้ผู้ร้องจะมีเอกสารอ้างว่ามีการร้องเรียนผ่านสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แต่เอกสารดังกล่าวก็เป็นเพียงการสรุปจำนวนและประเภทข้อพิพาทของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ไม่เกี่ยวกับกลุ่มของผู้คัดค้านแต่อย่างใด นอกจากนี้พยานทั้ง3ปากเพียงแต่พบธุรกรรมทางการโอนและจ่ายเงินระหว่างผู้คัดค้านเท่านั้น ส่วนเอกสารต่างๆที่ตำรวจยึดได้จากการตรวจค้นบริษัท ฝูอัน ฯ และบริษัทซินหยวน ฯ ไม่ปรากฏว่ามีเอกสารใดเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมาย

ขณะที่พยานผู้ร้องปากอื่นทั้งกลุ่มข้าราชการ กลุ่มประกอบธุรกิจนำเที่ยว กลุ่มมัคคุเทศก์ และ พยานของผู้คัดค้านก็ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่าบริษัท ฝูอัน ฯ และบริษัทซินหยวน ฯ เป็นเพียงคู่ค้าทางธุรกิจกันเท่านั้นไม่ได้ร่วมประกอบธุรกิจนำเที่ยวด้วยกันกับผู้คัดค้าน จึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านทั้งหมดร่วมกับบริษัททั้ง2แห่งดังกล่าวประกอบธุรกิจนำเที่ยวผิดกฎหมาย

อีกครั้งพยานที่ผู้ร้องนำสืบมา ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าหากนักท่องเที่ยวไม่ซื้อสินค้าแล้วจะถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นจึงยังฟังไม่ได้ว่าร้านค้าในเครือของผู้คัดค้านรับเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนหรือมีการกลั่นแกล้งนักท่องเที่ยวที่ไม่ซื้อสินค้าภายในร้าน และฟังไม่ได้ว่ามีมัคคุเทศก์ชาวต่างชาติเข้ามาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แล้วเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้คัดค้าน พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านร่วมกันหรือกระทำการบังคับขู่เข็ญกำหนดเส้นทางนำเที่ยว และให้พานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าในร้านค้าที่กำหนด รวมทั้งไม่ได้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของอัยการ และให้คืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่เจ้าของ พร้อมทั้งยกเลิกวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาที่เคยสั่งไว้ทั้งหมดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพิพากษาดังกล่าวยังเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อัยการผู้ร้องยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดีได้อีกภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้สำหรับคดีอาญาที่ศาลอาญา เคยพิพากษายกฟ้องไว้เมื่อปี 2560 นั้นอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ขณะนี้คดีอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์