เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเจ้าหน้าที่เขตเรียกรับเงินสินบนเลี่ยงจ่ายภาษี
มัดแน่นฝ่ายรายได้เขตราชเทวี
ข่าวแจกช่วงหัวค่ำ 19.00 น. โดย “เฉลิมพล โชตินุชิต” รองปลัด กทม. แถลงข่าวการจับกุม “เจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวี” ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์โดยมิชอบเพื่อกระทําการมิชอบด้วยหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
หลังเจ้าหน้าที่นำกำลังจับกุมตัวได้บริเวณลานจอดรถ โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรณีการเรียกรับผลประโยชน์เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีรายได้เป็นจำนวนเงิน 3.2 ล้านบาท ณ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
“รองปลัดเฉลิมพล” สวมหมวกอีกใบเป็นประธาน “ศปท.กทม.-ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตกรุงเทพมหานคร” หน่วยเฉพาะกิจที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติเซ็นตั้งกับมือเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
“เคสนี้ค่อนข้างน่ากังวลเนื่องจากผู้ที่ถูกจับกุมเป็นระดับบริหารของสำนักงานเขตที่มีหน้าที่ในการดูแลกิจการสาธารณะของประชาชน แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตเสียเอง การจับกุมในวันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นตัวอย่างของหน่วยงาน กทม. ซึ่งมีข้าราชการและลูกจ้างเกือบ 1 แสนคน โดยกำชับให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะต้องมีการตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้เกิดพฤติกรรมทุจริต”
ด้าน “พลตำรวจเอกอดิศร์” ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ประชาชนแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานหลักที่ท่านให้ความไว้วางใจ
ในที่นี้มี 4 หน่วยงานหลักคือ “ป.ป.ช.-คณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ, ป.ป.ท.-คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, ปปง.-คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ ป.ป.ส.-คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด”
จี้ 50 เขตเก็บภาษีที่ดินโปร่งแสง
ถัดมา วันที่ 7 เมษายน 2566 “เอกวรัญญู อัมระปาล” โฆษกกรุงเทพมหานคร แจ้งความคืบหน้าว่า ทางสำนักงานการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัด กทม. ได้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการรายนี้แล้ว โดยจะมีการสอบสวนตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป
ขณะเดียวกัน กทม.ได้กำชับทั้ง 50 สำนักงานเขต จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมต่อผู้เสียภาษี
ที่สำคัญมีวิธีปฏิบัติที่รัดกุมและเป็นแบบฉบับเดียวกัน ง่ายต่อการควบคุมตรวจสอบและติดตามผล
ISO 37001-ต้านสินบน
วันเดียวกัน มีการประชุม ศปท.กทม. ครั้งที่ 3/2566 เป็นโอกาสที่ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ย้ำนโยบาย “การต่อต้านการทุจริต ไม่ทนต่อการทุจริต ไม่ส่งไม่ส่วย” ซึ่ง ศปท.กทม. ได้รับแจ้งการทุจริตเข้ามา 70 ราย ผ่านทาง Traffy Fondue, รับแจ้งด้วยตนเอง และส่งหนังสือเข้ามา
ศปท.กทม. ตรวจสอบพบว่ามีการเกี่ยวข้อง 20 ราย โดยได้มีการลงโทษทางวินัย และดำเนินคดีอาญาไปแล้วบางส่วน 4 เรื่อง หนังตัวอย่าง อาทิ “ผู้อำนวยการโรงเรียนบางชัน-ฝ่ายรายได้เขตสวนหลวง-หัวหน้าฝ่ายรายได้เขตราชเทวี”
โดยปลัด กทม. (ขจิต ชัชวานิชย์) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย และย้ายมาเข้าแก้มลิง 20 ตำแหน่งที่ผู้ว่าฯชัชชาติได้ทำไว้ที่สำนักงาน ก.ก. สำนักปลัด กทม. ขั้นตอนมีการเซ็นคำสั่งให้พักราชการ จากนั้นจะดำเนินการสอบสวน หากเรื่องยืดเยื้อก็จะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ผลการสอบสวน 120 วัน ขยายได้ไม่เกิน 180 วัน
“ศปท.กทม. มีการร้องเรียนเข้ามาหลายเรื่อง อยู่ใน ป.ป.ช. 2 เรื่อง, ป.ป.ท. 1 เรื่อง ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ขณะนี้อยู่ในการทำแผนลงสืบ อีกไม่นานคงจะเป็นข่าวใหญ่”
ทั้งนี้ บางส่วน กทม. สามารถดำเนินการเองได้ มีการตั้งคณะกรรมการ 6 คณะ อาทิ คณะด้านโยธา, คณะด้านเทศกิจ, คณะด้านวัฒนธรรม, คณะด้านการศึกษา, คณะด้านพัฒนาสังคม เพื่อป้องปรามเพราะจะต้องมีงบประมาณลงไปตามชุมชนต่าง ๆ
เรื่องใหม่คือ ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้ประกาศใช้ “ISO 37001” เป็นระบบการจัดการต่อต้านการติดสินบน มีหน่วยงานจากภายนอกเข้ามาร่วมประเมิน ซึ่งประเทศไทยมีอยู่ที่เดียวคือ ปตท. ในขณะนี้
ในส่วนของ กทม.จะเริ่มจากสำนักสำคัญ ๆ ก่อน เช่น “สำนักการโยธา-สำนักการระบายน้ำ-สำนักงานเขตชั้นใน-สำนักงานเขตขั้นนอก” เพื่อเป็นตัวอย่างทำให้เป็นมาตรฐาน โดยให้คนภายนอกเข้ามาประเมินด้วย
ในช่วงแรกจะเป็นการอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานก่อน จากนั้นจะเริ่มดำเนินการในปี 2567 ต่อไป
สร้างการมีส่วนร่วมชุมชน
ถัดมา 10 เมษายน 2566 มีการประชุมแมตช์แรก “คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับ “พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ” ป.ป.ช.
ทั้งนี้ กลไกการทำงานในการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. ที่ต้องสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ในส่วนของ กทม. มีการตั้ง ศปท.กทม. ขึ้นมารองรับ ซึ่งมีความเข้มข้นในฐานะที่ กทม.เป็นเขตปกครองพิเศษ และมีการทำงานร่วมกันกับ ป.ป.ช.
“ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” กล่าวว่า กทม.เร่งรัดต่อต้านการทุจริตใน กทม. ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ลำดับต้น ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการ
สำหรับโจทย์ใหญ่ที่ กทม.รับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ 1.การจัดซื้อจัดจ้าง 2.การขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร 3.การรับผลประโยชน์ของเทศกิจ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนมีค่ามาก เนื่องจากทำให้ได้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ กทม.นำไปปรับปรุงระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของฝ่ายโยธา ฝ่ายรายได้ ฝ่ายเทศกิจ
นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการกระจายอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยให้งบประมาณสู่ชุมชน ชุมชนละ 2 แสนบาท ซึ่ง ป.ป.ช. ให้เป็นโครงการต้นแบบในเรื่องของความโปร่งใส
“นโยบาย กทม.ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ถ้าเมืองไม่โปร่งใสก็ไม่สามารถเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้ การก้าวเท้าแรกเป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าเราก้าวถูกต้องทุกอย่างจะดำเนินการได้ไม่ยาก หากก้าวผิดพลาดแล้วต้องมาตามแก้ไขทีหลัง นั่นคือสิ่งที่ยาก”