วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม ประวัติความเป็นมาและการประกอบพระราชพิธี

รัชกาลที่ 10
FILE PHOTO : MANAN VATSYAYANA / AFP

วันฉัตรมงคล 2566 ประวัติความเป็นมา การประกอบพระราชพิธี ที่เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ และกิจกรรมที่ถือปฏิบัติ

วันฉัตรมงคล เป็นวันครบรอบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยสมบูรณ์ตามโบราณราชประเพณี ซึ่งวันฉัตรมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 คือวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี

ประวัติความเป็นมา

พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี โดยเริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 ตามปฏิทินไทย (ตรงกับเดือนพฤษภาคมตามปฏิทินสากล) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13 14 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4

กระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีระกาเบญจศก จ.ศ. 1235 ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย

ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลจากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า “การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร” มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน ในเดือน 12 แรม 10 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองคราว คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454

พระราชพิธีฉัตรมงคลส่วนใหญ่จัดในวันที่ 11 พฤศจิกายน พร้อมกับการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ยกเว้นบางปีที่โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนงานพระราชพิธีฉัตรมงคลทำพร้อมกับงานเฉลิมพระชนมพรรษาในวันที่ 31 ธันวาคม และยังโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน หรืออุทิศส่วนพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชด้วยอีกส่วนหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 การพระราชพิธีฉัตรมงคลจัดในวันดังกล่าว แต่การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้นส่วนใหญ่พระราชทานในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 8 พฤศจิกายน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ไม่มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคล เนื่องจากไม่มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น ทำในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 20 กันยายน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชพิธีฉัตรมงคลจึงจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 และทางราชการถือเป็นวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่งของประเทศไทย

ต่อมาในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังจากรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้วันที่ 28 กรกฎาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นวันหยุดราชการ เพิ่มเติมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

วันฉัตรมงคล ถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร รามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ดังนั้นวันฉัตรมงคลในปัจจุบันจึงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี

งดพระราชพิธีในปี 2566

ทั้งนี้ ในปี 2566 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือราชการด่วนที่สุด ถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ความตอนหนึ่งว่า ด้วยสำนักพระราชวังแจ้งว่า ได้กำหนดการพระราชพิธีการพระราชกุศลทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล พุทธศักราช 2566 วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2566 การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้งดการพระราชพิธีดังกล่าว ในปีพุทธศักราช 2566 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

การประกอบพระราชพิธี

การประกอบพระราชพิธีวันฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะอัญเชิญเครื่องมงคลสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นพระราชครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล และพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น ซึ่งเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย

1.พระมหาพิชัยมงกุฎ

พระมหาพิชัยมงกุฎเดิมเรียกว่า พระมหามงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ลักษณะเป็นมงกุฎทรงกระโจมปลายเรียวแหลม ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี ประดับด้วยเพชรและอัญมณีต่างสี ประกอบด้วยเกี้ยวรักร้อยสามชั้น มีดอกประจำยามประจำทั้ง 4 ด้านทุกชั้น หลังมาลัยรักร้อยแต่ละชั้นทำเป็นจอมประดับด้วยกระจังรายและดอกไม้ไหววงรอบ เหนือมาลัยรักร้อยชั้นสามทำเป็นยอดทรงน้ำเต้าเรียว ปลายส่วนนี้ทำมาลัยดอกมะเขือรัดรอบสำหรับรับบัวกลุ่มและส่วนปลายสุดของมงกุฎประดับด้วยเพชรลูกขนาดใหญ่ลูกหนึ่งชื่อมหาวิเชียรมณี

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับประกอบกับพระมหาพิชัยมงกุฎอีกสิ่งหนึ่งคือ พระกรรเจียกสำหรับทรงประดับด้านหลังพระกรรณทั้ง 2 ข้าง เมื่อทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ

2.พระแสงขรรค์ชัยศรี

พระแสงขรรค์ชัยศรี หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นพระขรรค์โบราณจมอยู่ในทะเลสาบ ณ เมืองเสียมราฐ ชาวบ้านไปหาปลาทอดแหได้พระขรรค์นี้มา จึงนำมาให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้สำเร็จราชการเมืองเขมรในสมัยนั้น เห็นเป็นสิ่งสำคัญจึงให้กรมการเมือง เชิญเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงรับแล้วโปรดให้ทำด้ามและฝัก พระราชทานชื่อว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี”

พระแสงขรรค์ชัยศรี ใบพระขรรค์ทำด้วยเหล็กกล้าลักษณะแบนยาว กลางใบยกเป็นสันยาวแต่คนไปจดปลาย ส่วนโคนใบคอดเล็กน้อย ส่วนปลายแบนแผ่กว้างและปลายแหลม มีคมที่ใบพระขรรค์ทั้ง 2 ข้าง ตรงโคนพระขรรค์จำหลักเป็นภาพเทพเจ้าคร่ำทองข้างละ 2 องค์อยู่ในเรือนแก้ว

ส่วนกั่นพระขรรค์สอดเข้าด้ามไม้หุ้มทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี มีฝักทำด้วยไม้หุ้มทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดีประดับอัญมณีต่างสี

3.ธารพระกร

ธารพระกรชัยพฤกษ์ เป็นหนึ่งใน 5 ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์กลึงเป็นลำกลม หุ้มทองคำเกลี้ยงทั้งองค์ ส่วนหัวทำเป็นหัวเม็ดหุ้มทองคำ ส่วนส้นเป็นสามง่าม ทำด้วยเหล็ก ธารพระกรองค์นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน

4.วาลวิชนี

วาลวิชนี จัดเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ หมายรวมทั้งพัชนีและพระแส้จามรี

พัชนี คือ พัดทำด้วยใบตาลรูปกลมรี ขอบเลี่ยมทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีนมพัดรูปอย่างพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดีทั้งสองข้างด้ามพัดทำด้วยทองคำเป็นคันกลมยาวจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี

ส้นทำเป็นหัวเม็ดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อต้นแผ่นดิน เรียกว่า “พัชนีฝักมะขาม”

พระแส้จามรี คือแส้ทำด้วยขนหางจามรี เป็นพุ่มสีขาวนวลประกอบติดกับด้ามทำด้วยแก้ว ส่วนจงกลรับพู่ขนจามรีและส้นด้ามทำด้วยทองคำจำหลักลวดลายลงยาราชาวดี

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นและให้ใช้คู่กับพัชนีฝักมะขามตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในแผ่นดินนั้นเป็นต้นมา

5.ฉลองพระบาทเชิงงอน

ฉลองพระบาทเชิงงอน ลักษณะเป็นอย่างรองเท้าแตะ ปลายแหลมงอนขึ้นเล็กน้อย ส่วนหุ้มหลังพระบาททำด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดี พื้นฉลองพระบาททำด้วยทองคำบุผ้ากำมะหยี่สีแดงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้น

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขณะประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องขัตติยราชวราภรณ์ ได้แก่ พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลพระนพ และเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ วาลวิชนี

แล้วสอดฉลองพระบาทเชิงงอนถวายเป็นลำดับสุดท้ายในบรรดาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ จากนั้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องขัตติยราชูปโภคอื่น ๆ ต่อไป

กิจกรรมที่ถือปฏิบัติในวันฉัตรมงคล

การประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล การทำบุญตักบาตร พิธีถวายพระพรชัยมงคล การประดับธงชาติตามบ้านเรือน และตามสถานที่ราชการทุกแห่ง การปลูกต้นไม้และทำความดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลบรมราชาภิเษก