วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม รำลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
FILE PHOTO : MANAN VATSYAYANA / AFP

เปิดประวัติ ความเป็นมา “วันฉัตรมงคล” 4 พฤษภาคม ของทุกปี รำลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี

วันฉัตรมงคลของทุกปี ถูกกำหนดจัดขึ้นตามวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีขึ้นในวันที่ 4-6 พฤษภาคม

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนอ่านประวัติความเป็นมา และระเบียบแบบแผนการจัดเตรียม พร้อมดำเนินการพระราชพิธีในวันฉัตรมงคล

วันฉัตรมงคล คือวันอะไร สำคัญอย่างไร

วันฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี (ความหมาย ตาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525) คือ วันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และในปีต่อไปให้ถือว่าวันนี้เป็นวัน “ฉัตรมงคล”

พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีมาตั้งแต่สมัยโบราณดังที่ปรากฏหลักฐานในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “ในสมัยสุโขทัยมีพิธีต้อนรับประมุขของแผ่นดินอย่างมโหฬารตั้งแต่ที่พ่อขุนผาเมืองอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย”

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีวันฉัตรมงคล

สำหรับในสมัยอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานตามพงศาวดารว่า “พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินอยุธยา เมื่อมีการเปลี่ยนองค์พระมหากษัตริย์ ทั่วทั้งเมืองจัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกใหญ่โตไปทั่วทั้งพระนคร” ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มิได้ทรงละทิ้งพระราชพิธี พระบรมราชาภิเษก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการสอบพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ให้มีความถูกต้องตามระเบียบแบบแผนและทรงต้องการให้ยึดถือเป็นระเบียบแบบแผนในรัชกาลต่อไป ซึ่งประกอบด้วย

1. ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดียสถานสำคัญจากสถานที่ ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก (น้ำรด พระเศียรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

โดยมีระเบียบกำหนดให้ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมพูทวีป หรือที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมพูทวีป ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ 18 แห่ง จากภายในประเทศไทยแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชลัญจกร (ตราประจำรัชกาล)

2. พิธีเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์

3. พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ (เป็นพระราชอาสน์ 8 เหลี่ยม ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ในสมัยโบราณเป็นราชบัณฑิต) และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหมณ์

เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท เมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธ เป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

4. พิธีเบื้องปลาย เมื่อเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก

5. เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ให้ราษฎรได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคล ในอดีตยังไม่มีพิธีนี้ จะมีแต่พนักงานฝ่ายหน้าฝ่ายในพระบรมมหาราชวังจัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก

ในวันฉัตรมงคล ในตอนเช้าทรงพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรงทหารเรือ และทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด นอกจากนี้ ยังมีพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้า ให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย หลังจากนั้น ทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง เป็นอันเสร็จพิธี

กิจกรรมที่ถือปฏิบัติในวันฉัตรมงคล

การประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล การทำบุญตักบาตร พิธีถวายพระพรชัยมงคล การประดับธงชาติตามบ้านเรือน และตามสถานที่ราชการทุกแห่ง การปลูกต้นไม้และทำความดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลบรมราชาภิเษก ในทุก ๆ ปี