กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.

พายุไต้ฝุ่น
เครดิตภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา

กรมอุตุฯอัพเดตเส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์ (MAWAR)” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดเคลื่อนเข้าใกล้เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ 28-30 พ.ค. ระบุชัดพายุนี้ยังแรง เพราะอยู่ในทะเล และจะดึงดูดให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น เตือนช่วง 27-30 พ.ค.นี้ 2 ปัจจัยหลัก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งเวียดนามเคลื่อนผ่านประเทศไทย ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตเส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์ (MAWAR)” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก จาก RSMC โตเกียว ECMWF และ JTWC โดยระบุว่า พายุนี้ยังแรง เนื่องจากยังอยู่ในทะเล อุณหภูมิน้ำทะเลในระยะนี้อุ่นขึ้น กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือ (ห่างจากกรุงมะนิลาประมาณ 2,000 กม.) คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้บริเวณหัวเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ราววันที่ 28-30 พ.ค. 2566 และจะเคลื่อนตัวโค้งกลับไปทางเกาะไต้หวันต่อไป

สำหรับพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย เพียงแต่จะดึงดูดให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ใช้เป็นแนวทางในการติดตามและตัดสินใจ)

เส้นทางพายุไต้ฝุ่น "มาวาร์ (MAWAR)"

ส่วนพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (26 พ.ค. 66)  มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามและลาวตอนบน

Advertisment

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก แต่ยังคงมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย

Advertisment

ขณะที่พยากรณ์อากาศใน 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 27-30 พ.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยลงสู่อ่าวมะตะบัน

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค.-1 มิ.ย. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้น รวมทั้งมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

พยากรณ์อากาศ 27-30 พ.ค.66

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม และขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมที่จะเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27-30 พ.ค. 66

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (25-26 พ.ค. 66) : ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 2.8 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.เขาโจด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี และขนาด 2.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

พยากรณ์อากาศ กทม.26 พ.ค.-1 มิ.ย.66