หมอมีน หมออินเทิร์นจบใหม่ ถูกรถชนเสียชีวิตหลังออกเวร

หมอมีน หมออินเทิร์น เสียชีวิต
ภาพจาก Facebook Ittaporn Kanacharoen

“หมอมีน” หมออินเทิร์นจบใหม่ เริ่มงานได้ 23 วัน ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตหลังออกเวร เลขาฯ แพทยสภา แนะสถานพยาบาลควรจำกัดเวลาทำงานไม่ให้เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากทำงานหนัก ควรงีบก่อนขับรถ

วันที่ 25 มิถุนายน 2566 การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการแชร์เหตุการณ์และประสบการณ์การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้มีทั้งหมอจบใหม่ใช้ทุน หรือที่เรียกว่า หมอ Intern ลาออก ไปจนถึงเกิดอุบัติเหตุขณะเดินทางกลับ หลังจากเข้าเวรต่อเนื่องหลายชั่วโมง

และล่าสุดเกิดกรณีเศร้าอีกครั้ง โดย พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา โพสต์ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวานนี้ (24 มิ.ย. 2566) แจ้งข่าวการเสียชีวิตของ พญ.ญาณิศา สืบเชียง หรือคุณหมอมีน โดยระบุว่า “ขอแสดงความเสียใจ กับครอบครัวของคุณหมอ ในการจากไปของน้องหมอมีน แพทย์จบใหม่ 2566 เพิ่งเริ่มปฏิบัติงานในตำแหน่ง แพทย์เพิ่มพูนทักษะ รพ.พหลฯ กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ชน 4 คัน หลังจากลงเวร ขอบคุณทีมพี่ ๆ โรงพยาบาลพหลพลพยุหะเสนา ที่พยายามช่วยเหลือน้องอย่างสุดความสามารถ หลังได้รับการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล

แพทยสภาจะขอประสานข้อมูลว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานอย่างไรหรือไม่ เพื่อเป็นแนวทางที่อาจช่วยป้องกันได้ในอนาคต แต่เบื้องต้นทราบว่าเกิดเหตุที่แยกที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ #มอตาเขียว และเกิดในช่วงเย็น อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยสำรวจพื้นที่ถนนและการจราจรด้วยครับ และต้องขอฝากเตือนคุณหมอทุกท่าน หลังลงเวร ถ้าง่วงอย่าขับรถเอง ถ้าจำเป็นต้องงีบก่อน ฝืนไปไม่คุ้มเลยครับ มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย อันตรายจริง ๆ

คุณหมอมีนอยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทของจังหวัดราชบุรี กว่าจะเป็นหมอ 1 คน ต้องทุ่มเทเรียน เป็นเวลา 6 ปี นับเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณค่าของประเทศอย่างยิ่ง ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอีกครั้งครับ”

นอกจากนี้ เลขาธิการแพทยสภา ยัง โพสต์ ให้ข้อมูลเรื่องการอยู่เวรปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป โดยระบุว่า “การที่อยู่เวรยาวนาน ของแพทย์จะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายเพราะ Human error

แพทยสภาจึงจำกัดเวลาการทำงานนอกเวลาของแพทย์เริ่มที่แพทย์เพิ่มพูนทักษะ ที่อยู่ในการดูแลของแพทยสภา ไม่ให้เกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และเป็นข้อแนะนำสำหรับทุกสังกัดหน่วยงาน ที่ควรจำกัดเช่นกันหากยังเกินอยู่ และควรพัฒนาเป็นกฎหมายในอนาคต ทั้งนี้สถานพยาบาลนั้น จะต้องรีบบรรจุให้มีแพทย์เพียงพอ ในการสลับเวร เพื่อดูแลประชาชนเสียก่อน

ขอขอบคุณทาง สธ. และภาครัฐที่ให้ความสำคัญ ขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันในการ ผลิต และหาตำแหน่งบรรจุให้กับแพทย์ ในการดูแลผู้ป่วย หวังว่าระบบจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และเข้าสู่มาตรฐาน ที่ควรจะเป็นโดยเร็วครับ”