TDRI ชำแหละปมขาดแคลนแพทย์ ชี้ “พลังดูด รพ.เอกชน-เมดิคอลฮับ” ซ้ำเติม

คณะแพทย์ จุฬาฯ
Photo : Pixabay

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชำแหละปมขาดแคลนแพทย์ ชี้ “พลังดูด รพ.เอกชน-เมดิคอลฮับ” ซ้ำเติมปัญหา แพทย์ยังจมภาระงานหนัก เร่งรักษาแบบสายพานอุตสาหกรรม กระทบผู้ป่วย เสนอทางออกให้เอกชนเปิดสอนหลักสูตรเฉพาะทาง-เลิกกีดกันหมอต่างชาติ แนะเก็บภาษี Medical tourist ใช้อุดหนุนงบฯปรับปรุง รร.แพทย์ไทย

วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ดร.วิโรจณ์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงปัญหาแพทย์ขาดแคลน ว่ามาจากหลายสาเหตุ ทั้งระยะเวลาในการผลิตแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องใช้เวลาเป็นสิบปี และยิ่งถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากต้องใช้เวลาถึง 12 ปี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เป็นแรงดึง (ออก) และแรงผลักแพทย์ไปจากระบบรัฐ โดยแรงดึงออก เป็นเรื่องของความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น การไปศึกษาต่อ เพื่อเป็นอาจารย์แพทย์ ในโรงเรียนแพทย์ หรือไปอยู่ในภาคเอกชนที่มีรายได้ที่สูงกว่าภาครัฐหลายเท่าตัว ส่วนแรงผลัก เป็นเรื่องของภาระงานที่ค่อนข้างหนัก ซึ่งนอกจากจำนวนของแพทย์ที่น้อยแล้ว ยังมีเรื่องของการกระจายงานใน รพ.ด้วย

ดร.วิโรจณ์ ณ ระนอง
ดร.วิโรจณ์ ณ ระนอง

ดร.วิโรจน์ระบุด้วยว่า นโยบายเมดิคอลฮับ (Medical Hub) หรือศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แพทย์ถูกดึงออกจากระบบ ไปอยู่ รพ.เอกชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลต่างสนับสนุนนโยบายนี้ และ รพ.เอกชนของไทยหลายแห่งก็ประสบความสำเร็จในการดึงผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาใน รพ.เอกชนของไทยจำนวนมาก ทำให้การดึงแพทย์เฉพาะทางจาก รพ.รัฐไปยัง รพ.เอกชน ย่อมมากขึ้นตาม

“ที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ในภาครัฐหลายแห่งมีความรู้สึกว่าแพทย์ที่ผลิตออกมาได้ไม่นานก็หายไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งถ้า Medical Hub ยิ่งเจริญงอกงาม แรงดึงในส่วนนั้นก็ยิ่งมากกว่าเดิม เพราะนอกจากแพทย์ไปอยู่เอกชนมากขึ้นแล้ว ก็ยังจะมีคนไข้ต่างชาติจำนวนมากทะลักเข้ามาด้วยกำลังซื้อที่สูงกว่าคนไข้ไทย (และกองทุนหลักประกันสุขภาพต่าง ๆ) มาก และทำให้ถึงแม้ว่าจะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นได้มาก แต่ในที่สุดแล้ว ในต่างจังหวัดและในพื้นที่ห่างไกลในหลายที่แพทย์ก็ยังจะขาดแคลนและมีภาระงานที่ยังหนักเหมือนเดิม” ดร.วิโรจน์ระบุ

ดร.วิโรจน์ระบุว่าถ้าแพทย์ขาดแคลนก็จะทำให้กระทบไปถึงประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าระบบการแพทย์ของไทยจะถือว่ามีประสิทธิภาพมาก แต่การที่แพทย์ไม่เพียงพอในระบบ ทำให้มีความกังวลในเรื่องของคุณภาพ โอกาสที่แพทย์จะให้เวลากับคนไข้แต่ละรายก็ทำได้ยาก เพราะผู้ป่วยจะถูกส่งต่อเข้ามาพบแพทย์ตามระบบ เหมือนกับการส่งชิ้นส่วนมาทางสายพานในระบบสินค้าอุตสาหกรรม ที่แต่ละจุดต้องทำให้เสร็จในเวลาสั้น ๆ ในขณะที่อาการและปัญหาแวดล้อมของผู้ป่วยแต่ละคนมักมีรายละเอียดเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกันมากพอสมควร ทำให้สุดท้ายการยึดหลักผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางทำได้ยาก

ดร.วิโรจน์ยังกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข ว่าส่วนตัวคิดว่าสามารถทำให้ปัญหาเบาบางลง แต่ในระยะยาวจะยังคงเผชิญกับปัญหาการเติบโตของ รพ.เอกชนและการเข้ามาของคนไข้ต่างชาติอยู่ จึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ให้โรงเรียนแพทย์เอกชนสามารถเปิดหลักสูตรสอนแพทย์เฉพาะทางได้ จากเดิมที่แพทย์เฉพาะทางจะอยู่ในโรงเรียนแพทย์ของรัฐบาลเท่านั้น

2.พิจารณาเปิดทางให้แพทย์ต่างชาติ เข้ามารักษาผู้ป่วยต่างชาติ (ที่พูดภาษาเดียวกัน) ที่มารักษาตัวใน รพ.เอกชนของไทย และ 3.ควรมีการพิจารณาว่าจะมีการเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากคนไข้ ที่เป็น Medical tourist (ผู้ที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับการรักษาในประเทศไทยโดยเฉพาะ ไม่รวมผู้ป่วยที่เป็นนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่มาทำงานในประเทศไทย) เพื่อนำภาษีที่เก็บได้มาแบ่งเฉลี่ยเพื่ออุดหนุนการผลิตแพทย์ หรือปรับปรุงพัฒนา รร.แพทย์ของไทยให้ดีขึ้น

“อยากชวนสังคมคิดไปพร้อมกันด้วยว่า ควรทำอย่างไรกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย การที่ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูง น่าจะทำให้คนไทยจำนวนมากไม่ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับระบบของรัฐให้ดี มีคุณภาพ คนจำนวนหนึ่งที่มีเงินต้องการเลือกบริการที่เห็นว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง โดยไม่ได้สนใจมากนักว่าระบบที่เหลือจะเป็นอย่างไร ไม่ได้อยากให้รัฐนำเงินภาษีไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพบริการ โดยหลายคนเรียกร้องให้เก็บเงิน “ร่วมจ่าย” จากผู้ใช้บริการมากขึ้น แทนการใช้เงินภาษี ซึ่งพวกเขาอยากจะจ่ายให้น้อยที่สุด แล้วเก็บเงินเอาไว้สำหรับไปเลือกหาหมอที่ต้องการในโรงพยาบาลเอกชนเอง”

ดร.วิโรจน์ระบุด้วยว่า ซึ่งกรณีดังกล่าวแตกต่างไปจากในแคนาดาหรืออังกฤษ ที่ระบบบริการทางการแพทย์ยังคงความเป็นระบบของรัฐ (National Health System) ที่แทบจะไม่เปิดให้มีทางเลือกอื่นสำหรับผู้ที่ต้องการระบบที่มีคุณภาพสูงกว่า (ถ้าไม่ควักกระเป๋าข้ามไปใช้บริการในประเทศอื่นรวมทั้งไทย) ทำให้คนในประเทศเหล่านั้นไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเฝ้าดูว่าระบบของรัฐกำลังพัฒนาไปในทางที่น่าพอใจหรือไม่ และมักจะสนใจเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบบริการทางการแพทย์ของรัฐอย่างแข็งขันอยู่เสมอ

“ดังนั้น การแก้ไขปัญหาระบบบริการสุขภาพของไทยในระยะยาวอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องทำให้ทุกคน มีฉันทามติร่วมกันว่าบริการสุขภาพของไทยจะมุ่งไปทางไหน และตระหนักว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รวมถึงการขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาของทุกคนเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นเรื่องนี้จะยังถูกละเลยและเงียบหายไปเหมือนกับอีกหลายกรณีที่ผ่านมา” ดร.วิโรจน์ระบุ

หมายเหตุ บทสัมภาษณ์เต็ม ตาม link นี้ค่ะ https://tdri.or.th/2023/06/shortage-doctor/