กสพท ชี้ปรับหลักสูตรแพทย์เป็น 7 ปี จะขาดหมอเข้าระบบปีแรก 3,000 คน 

บุคลากรทางการแพทย์
ภาพจาก pixabay

กสพท ฟังข้อเสนอแก้ปัญหาแพทย์ลาออก ชี้การปรับหลักสูตรไม่ใช่เรื่องง่าย หากเพิ่มหลักสูตรแพทย์เป็น 7 ปี จะทำให้ขาดบุคลากรเติมเข้าระบบปีแรกกว่า 3,000 คน เล็งประชุมแนวทางจัดการศึกษาแพทย์ปี 2567 หาจุดสมดุลรับมือแนวคิดเด็กรุ่นใหม่

วันที่ 12 มิถุนายน 2566 รศ.พญ.นันทนา ศิริทรัพย์ เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) กล่าวว่า กสพท รับทราบปัญหาแพทย์ลาออกจากระบบมาโดยตลอด แต่ละคณะได้ติดตามการทำงานของบัณฑิตแพทย์ของตนเอง และประชุมหารือกันทุก ๆ 7 ปี เพื่อปรับปรุงหลักสูตร และหาแนวทางการปรับปรุงการผลิต เพื่อให้แพทย์ทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การประชุมล่าช้าไป 

อย่างไรก็ตาม กสพท ได้ประชุมเพื่อเตรียมการประชุมแนวทางการจัดการศึกษาแพทยศาสตร์ในอนาคตในปี 2567 ระหว่างนี้เป็นช่วงเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งปัญหาที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันขณะนี้เกี่ยวกับภาระงานของแพทย์ที่หนักมาก ทำให้แพทย์ส่วนหนึ่งลาออก ส่วนหนึ่งก็มาจากค่านิยมของเด็กแต่ละรุ่น ซึ่งต้องหาวิธีรับมือกับแนวคิดค่านิยมของเด็กรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากคนรุ่นเดิม ว่าจะหาจุดสมดุลได้อย่างไร

รศ.พญ.นันทนากล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอจาก 4 ชมรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่เสนอผ่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประสานสถาบันผลิตแพทย์ให้สอนแพทย์ตามหลักสูตร 6 ปี และให้รวมสอนอินเทิร์นแทน สธ.อีก 1 ปีนั้น ทุกฝ่ายมีข้อเสนอได้ และ กสพท ก็รับฟังทุกข้อเสนอ แต่จะปรับหลักสูตรเพิ่ม หรือลดระยะเวลาเรียน ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย ๆ หรือทำได้เร็ว

“มีสิ่งที่อยากให้พิจารณาด้วยว่า หากให้นิสิตนักศึกษาแพทย์อยู่ในโรงเรียนแพทย์อีก 1 ปี จะทำให้ปีแรกไม่มีแพทย์ไปเติมในระบบทันทีกว่า 3,000 คน แพทย์ที่อยู่ในระบบจะรับภาระไหวหรือไม่ และการให้แพทย์เรียน 7 ปี จะได้รับเงินเดือนเท่าไร นักเรียนทุนแพทย์ ซึ่งได้รับทุน 6 ปี ส่วนปีที่ 7 จะได้รับทุนจากที่ไหน

รวมทั้งงบประมาณสำหรับการเรียนการสอน อุปกรณ์ของโรงเรียนแพทย์อีก 1 ปี จะได้รับการสนับสนุนจากแหล่งใด เป็นต้น ทุกเรื่องจะเกี่ยวพันกันทั้งหมด จะต้องมาหารือกันเพื่อช่วยกันหาทางออก”

“วิชาชีพแพทย์เป็นที่คาดหวังสูงของผู้ป่วย ญาติ และสังคมไทย ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายในวงการแพทย์ไม่ได้อยู่นิ่ง เรารับรู้ปัญหาโดยตลอด ถ้าเราหยุดนิ่ง คงรักษาโรคยาก ๆ ไม่ได้ ก็ขอให้วางไว้ ถ้าวางใจว่าแพทย์รักษาโรคยาก ๆ ได้ก็ขอให้วางใจว่าแพทย์ดูแลหลักสูตรแพทย์ การผลิตแพทย์รุ่นใหม่ ไม่ต่างจากการดูแลคนไข้เช่นกัน”