“ศุลกากร 1202” เรือตรวจการณ์ลำใหม่กรมศุลฯ ราคา 234 ล้าน ทำพิธีปล่อยลงน้ำวันนี้

เรือตรวจการณ์ กรมศุลกากร

อธิบดีกรมศุลกากรทำพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ทางทะเล “ศุลกากร 1202” ลงน้ำ รองอธิบดีหญิง กิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำตามประเพณีโบราณ เผยค่าออกแบบและต่อสร้างอยู่ที่ 234,865,000 บาท

วันที่ 30 มิถุนายน 2566 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ทางทะเล “ศุลกากร 1202” ลงน้ำ พร้อมด้วย นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์ รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม นายวิศณุ วัชราวนิช เลขานุการกรม พร้อมคณะผู้บริหารกรมศุลกากร และนายภัทรวิน จงวิศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหารจากบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) 

โดยมีนางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำตามประเพณีโบราณ ณ อู่ต่อเรือบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ

นายพชรกล่าวว่า กรมศุลกากรตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องชายแดนและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงภัยคุกคามความมั่นคงของชาติในอนาคตที่เกิดจากการลักลอบเคลื่อนย้ายสินค้าที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคมเข้ามาในประเทศ ตลอดจนใช้ประเทศไทยเป็นต้นทางและทางผ่านซึ่งสินค้าเหล่านี้ 

กรมศุลกากรจึงดำเนินการต่อเรือตรวจการณ์ทางทะเล “ศุลกากร 1202” เพื่อทดแทนเรือที่ปลดประจำการ ขนาดความยาว 120 ฟุต ความกว้างกลางลำ 24.93 ฟุต กินน้ำลึกตัวเรือ 4.59 ฟุต ความคงทนทางทะเลระดับ 5 ออกแบบและต่อสร้างโดยบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 234,865,000 บาท ประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 และได้ดำเนินการต่อสร้างเรือเรื่อยมาเป็นลำดับจนกระทั่งเสร็จสิ้นสมบูรณ์

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า เรือตรวจการณ์ทางทะเล “ศุลกากร 1202” ลำนี้ ถูกต่อขึ้นด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เป็นเรือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดลำหนึ่งในกองเรือศุลกากร และจะนำไปใช้ในภารกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายศุลกากร การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตลอดจนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติทางทะเล ต่อไป