ตำรวจบุกจับ “นายช่างอาวุโส” เขตลาดกระบัง ขณะรับสินบน เงินคามือ

ตร. บุกจับ “นายช่างอาวุโส” เขตลาดกระบัง ขณะรับสินบน คาห้องทำงาน ชัชชาติ ขอให้มีหลักฐาน พร้อมดำเนินการเด็ดขาด

วันที่ 5 กันยายน 2566 มติชน รายงานตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปปป. แจ้งสื่อมวลชนว่า ในเวลาประมาณ 14.00 น. จะมีการแถลงข่าว หลัง บก.ปปป. ร่วมกับ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. บุกรวบ “นายช่างโยธาอาวุโส สำนักงานเขตลาดกระบัง” เรียกรับเงินสินบนจากผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารกว่าครึ่งแสน คาห้องทํางานฝ่ายโยธา สํานักงานเขตลาดกระบัง ขณะส่งมอบเงิน

ชัชชาติรับไม่ได้ ขอให้มีหลักฐาน พร้อมดำเนินการเด็ดขาด

ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวในประเด็นที่สื่อมวลชนมีการรายงานข่าวเรื่อง คนใกล้ชิดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเรียกรับผลประโยชน์ในการพิจารณาแต่งตั้ง ตำแหน่งผู้อำนวยการเขต ว่า จากที่มีสื่อเผยแพร่ข่าวเรื่องมีการเรียกผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมาเพื่อเลื่อนตำแหน่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯประพฤติตนไม่เหมาะสมนั้น ขอเรียนว่าไม่มีมูลความจริง

ต้องขอบคุณทางสื่อที่ช่วยกรุณาเตือน แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ไปสอบถามและดูว่าเกิดอะไรขึ้น และมีประเด็นไหนที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จากที่มีการเอ่ยถึงชื่อ ป. (นายปารุส อรหัตมานัส) ท่านเป็นข้าราชการเกษียณ เป็นคนที่อยู่กทม.มานาน เคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสะพานสูง ผู้อำนวยการเขตหนองจอก เกษียณที่ตำแหน่งผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง

ท่านเป็นคนที่เข้าใจระบบงานดี เมื่อเกษียณแล้วท่านก็อยากเห็น กทม. พัฒนา ก็เข้ามาช่วยดูกิจการต่าง ๆ โดยที่ไม่รับเงินเดือน เพราะท่านมีเงินบำนาญและช่วยมาตลอด เมื่อสอบถามไปยังท่านปารุสก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่มีการเรียกรับส่วยเพื่อรับตำแหน่งใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเราต้องการคนดีมาทำงาน ถ้าเรานำคนทุจริตมาเป็นทีมงานเราสุดท้ายเราจะแย่เอง เราไม่มีทางที่จะเอาคนที่ไม่ไว้ใจ หรือไม่เก่งมาทำงาน ความคิดเรื่องการเรียกรับผลประโยชน์ไม่เคยมีอยู่ในทีมนี้

ชัชชาติ สิทธิพันธ์

ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวด้วยว่า ผู้อำนวยการเขตคือหัวใจสำคัญของการบริหารเขต เรามีผู้อำนวยการเขต 50 คน แต่งตั้งมาจากผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหรืออาจมาจากหน่วยงานอื่น ปัญหาคือบางครั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตมีข้อมูลหรืออาจจะรู้บางด้านเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข แต่อาจไม่รู้ทุกด้าน จึงมีการอบรมระดับผู้บริหารอยู่ 3 รูปแบบ แต่ก่อน คือนักบริหารระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง

โดยสถาบันพัฒนาทรัพยากรบุคคลกรุงเทพมหานคร ต่อมาเรามีการอบรมผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตขึ้นมาเป็นหลักสูตรเร่งรัดที่ทุกคนต้องมาอบรมหมด ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นหลักสูตร 3 วัน 2 คืน ที่ศูนย์ฯ หนองจอก เพื่อให้ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตทั้งหมดมาร่วมกันอัพเดตข้อมูล เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเรื่องนโยบาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับนโยบายของ กทม. คือ Life Long Learning เมื่อเทคโนโลยีหรือข้อมูลเปลี่ยน กลุ่มผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเหล่านี้ก็ได้มีการนัดกันผ่านไลน์กลุ่มมาอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติม

ซึ่งเหตุเกิดวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566 ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตที่อบรมแล้วได้นัดกันมาฟังบรรยาย เรื่องพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จากอดีตผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ นายธนาชิต ชูติกาญจน์ ณ สำนักงานเขตวังทองหลาง ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น. โดยมีผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตเข้ารับการอบรมประมาณ 40 คน จากที่ลงทะเบียน 70 คน ซึ่งไม่ได้มีการตั้งงบประมาณใด ๆ เป็นการเรียนรู้ด้วยความสมัครใจ

ชัชชาติ สิทธิพันธ์

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ขอให้เผยแพร่เนื้อหาข้อเท็จที่ถูกต้อง ถ้าเป็นข้อมูลไม่จริงคนทำงานจะเสียกำลังใจ ซึ่งการแต่งตั้งเราแข่งขันกันด้วยผลงาน และไม่มีเหตุผลเลยที่จะแต่งตั้งผู้ที่ทุจริตขึ้นดำรงตำแหน่ง หรือเป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเมื่อผิดตั้งแต่ก้าวแรก ก้าวต่อไปก็จะผิดตลอด ขอยืนยันว่าไม่เคยเรียกรับเงินเรื่องพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่ง และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำต่าง ๆ ที่นำเสนอกันเข้ามา

เรื่องต่อไปคือเรื่องผลประโยชน์เรื่องการประมูล เก็บขยะ ซึ่งมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงมอบหมายให้นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ เนื่องจากมีประวัติเรื่องความโปร่งใส สุจริต มีความรู้ละเอียด และมีประสบการณ์ด้านนี้ ที่ผ่านมามีการประมูลเก็บขยะตั้งแต่ปี 2563 โดยราคากลางอยู่ที่ 716 บาทต่อตัน งบประมาณ 1,045 ล้านบาท

โดยผู้ชนะการประมูลผ่านระบบ e-auction เสนอราคามาที่ 683 ล้านบาท ซึ่งต่อมา กทม.ได้ขอต่อรองราคาอีกประมาณ 3 ครั้ง จนราคาลดเหลือ 600 บาทต่อตัน ประหยัดงบประมาณไปได้ 169 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังด้านดูแลงบประมาณของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อจะนำงบประมาณไปดูแลเรื่องอื่น เช่น เด็ก โรงเรียน ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ดังนั้นเรื่องของการเรียกรับผลประโยชน์และการทุจริตจึงไม่น่าเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นขอให้ แสดงหลักฐานและข้อเท็จจริงแจ้งเข้ามา ซึ่ง กทม.จะนำไปดำเนินการอย่างเด็ดขาดและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ในวันนี้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ ฝ่ายโยธา สังกัดสำนักงานเขตลาดกระบัง ที่ทุจริต เรียกรับผลประโยชน์ 50,000 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของ กทม.ด้วยเช่นเดียวกัน ที่ไม่อดทนต่อการทุจริตแม้จะเป็นคนในองค์กรก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการในเรื่องของความโปร่งใสไร้คอร์รัปชั่น ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่กทมได้ผ่าน Traffy fondue ซึ่งในปัจจุบันมีเรื่องดังกล่าวแจ้งเข้ามากว่า 100 เรื่อง แต่การตรวจสอบคงต้องใช้เวลาพอสมควร เช่นมีการล่อซื้อเพื่อให้พบหลักฐานที่เป็นรูปธรรม