บอร์ด รฟม. เคาะสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย คาดดีเดย์ 1 ธ.ค. 2566

รถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาท

บอร์ด รฟม. เคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาทตลอดสาย เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม 29 ก.ย.นี้ พร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง คาดดีเดย์ 1 ธันวาคมนี้ เผยนโยบายดังกล่าว ทำสูญเสียรายได้ปีละ 190 ล้านบาท 

วันที่ 28 กันยายน 2566 มติชน รายงานว่า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมเป็นต้นไป

ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันรถไฟฟ้า 2 สาย ที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ เชื่อมต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ทั้งนี้ รฟม.เตรียมนำมติบอร์ดที่เห็นชอบปรับอัตราค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท และมีมติเพิ่มเติมกำหนดค่าโดยสารของเด็กและผู้สูงอายุ จะได้รับส่วนลด 50% และนักเรียน-นักศึกษา จะได้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารใหม่ เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 29 กันยายนนี้

เพื่อนำข้อมูลไปรวมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทันใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แน่นอน ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับสายสีแดงนั้นจะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 20 บาทเช่นกัน

“จากนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารสายสีม่วงลดลงประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี หรือลดลงประมาณ 60% ของรายได้ผู้โดยสาร ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มใช้นโยบายดังกล่าวจำนวนผู้โดยสารสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน หรือคิดเป็น 17% จากปกติมีผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ 5.6 หมื่นคนต่อวัน

ซึ่งผู้โดยสารจะเพิ่มเป็น 6.6 หมื่นคนต่อวัน โดยมีการเดินทางเฉลี่ยอยู่ที่ 8 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 16 สถานี ค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 23 บาท ส่วนการเดินทางข้ามสายระหว่างสายสีม่วงกับสายสีแดงปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มาก หรืออยู่ที่ประมาณ 100-200 คนต่อวัน” นายภคพงศ์กล่าว

นายภคพงศ์กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของการแบ่งรายได้จะใช้วิธีการเก็บจากสถานีต้นทาง หากผู้โดยสารขึ้นที่สถานีสายสีม่วง รฟม.ก็จะเป็นผู้รับรายได้ในส่วนนั้นไป หากผู้โดยสารขึ้นจากรถไฟฟ้าสายสีแดง รฟท.จะได้รายได้ในส่วนนั้นไปเช่นกัน

โดยทั้งหมดนี้จะให้บริการผ่านระบบ EMV หรือการใช้บริการผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเท่านั้น ไม่รับเงินสด หรือใช้ระบบเหรียญแบบในปัจจุบัน ส่วนในกรณีที่จะใช้เงินชดเชยไปอีกกี่ปีนั้น รฟม.ขอพิจารณาก่อน หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นที่ 17% ต่อปี ก็คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี รฟม.จึงจะคืนทุน

นอกจากนี้ รฟม.ขอประเมินผลในช่วง 1 ปีของการใช้นโยบายนี้ก่อน เพราะเชื่อว่าหากมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจทำให้การชดเชยรายได้ใช้เวลาน้อยลง และแน่นอนว่านโยบายนี้ส่งผลบวกต่อผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์

เมื่อมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้นจะลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์ ประเมินมูลค่าการเงินทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเวลาในการเดินทาง ค่าความสุข และการลดความสูญเสียทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมกัน 5 ปัจจัยนี้ รวมมูลค่าประมาณ 900 ล้านบาท ถือเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รฟม.จะนำรายได้ส่งกระทรวงการคลังอยู่ที่ประมาณ 20-25% ต่อปีของกำไรสุทธิ ดังนี้ ปี 2563 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 300 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 467 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 311 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีรายได้นำส่งคลังอยู่ที่ 223 ล้านบาท

ส่วนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยเบื้องต้น รฟม.ได้มีการหารือร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ซึ่งทางเอกชนอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขเกี่ยวกับการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงคมนาคม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาร่วมกับภาคเอกชน