สำรวจดาวเทียม THEOS-2 สำคัญอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง

Theos2
ภาพจาก : facebook GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ส่องคุณสมบัติดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ “ไทยโชต2” หรือ THEOS2 กับความหวังของอุตสาหกรรมอวกาศไทย

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ภารกิจส่งดาวเทียม THEOS-2 (“Thailand Earth Observation Satellite-2”) เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ วันที่ 9 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทย ที่ได้พัฒนาดาวเทียมสำรวจพื้นผิวโลกด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ประเทศไทยเคยมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรพื้นผิวโลกมาแล้วในปี 2551 คือดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS-1 แม้อายุวิศวกรรมจะมีอายุ 5 ปี แต่ ไทยโชต ก็ปฏิบัติภารกิจอวกาศด้วยอายุนานถึง 14 ปี

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการพัฒนากิจการอวกาศของไทย จึงตั้งเป้าว่าดาวเทียมที่จะใช้ทดแทนไทยโช หรือ THEOS-1 ต้องสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุกขั้นตอนให้คนในชาติให้ได้ จากเดิมที่เราจ้างต่างชาติผลิต

ดังนั้น ในปี 2562 จึงมีการส่งทีมวิศวกร 22 คน ไปทำงานในบริษัทพันธมิตรอย่าง Airbus Defense เพื่อเริ่มการพัฒนาตั้งแต่เป็นกระดาษเปล่าจนถึงกระบวนการผลิตทุกส่วนมีวิศวกรชาวไทยเข้าไปมีส่วนร่วม ภายใต้เงื่อนไขบริษัทพันธมิตรฯต้องถ่ายทอดวิธีการผลิตให้กับวิศวกรไทย

สำหรับประโยชน์ที่จะได้จากดาวเทียม THEOS-2 สามารถปรับได้หลากหลายกลุ่มความต้องการ ก่อนอื่นต้องดูคุณสมบัติของดาวเทียมประเภทนี้

คุณสมบัติดาวเทียมสำรวจทรัพยากร

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร (Resource Satellite) หรือส่วนใหญ่จะเรียกว่า Earth Observation Satellite คือดาวเทียมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสำรวจและค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรทางธรรมชาติของโลก ซึ่งอาจรวมถึงสิ่งอยู่รอบโลก เช่น ป่าไม้ น้ำ แร่ พืช พื้นที่เพาะปลูก และอื่น ๆ โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจสอบในที่จริง

การตรวจสอบและจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากภาพถ่ายทางอากาศที่เกิดขึ้นแบบต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ทางอุตสาหกรรม การสำรวจทรัพยากรนี้ช่วยให้มีข้อมูลที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและช่วยในการวางแผนและการบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยตรวจสอบสภาพแวดล้อมโลกในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

โดยข้อมูลจากภาพถ่ายนั้นนอกจากความละเอียดสูงที่จะช่วยให้คนอ่านข้อมูลวิเคราะห์ได้มากแล้ว การที่วงโคจรอยู่ในวงโคจรต่ำ Low Orbit ทำให้การเคลื่อนที่รอบโลกมาจุดเดิมทำได้เร็วขึ้น เก็บข้อมูลซ้ำได้เร็วมากขึ้น ข้อมูลก็จะเรียลไทม์กว่า

วัดศักยภาพการถ่ายภาพของ Theos2

ข้อมูลจาก Gistda ระบุว่า ดาวเทียม THEOS-2 MainSat เป็นดาวเทียมที่จะโคจรอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 621 กิโลเมตรจากพื้นโลก มีรอบโคจรซ้ำวงโคจรเดิม (Orbit Cycle) ทุก ๆ 26 วัน (มีความสามารถเอียงตัวถ่ายภาพซ้ำพื้นที่เดิมได้ภายใน 2 วัน) มีความกว้างแนวถ่ายภาพ (Swath Width) 10.3 กิโลเมตร

ข้อมูลภาพมีจำนวน 5 แบนด์ (PAN, BLUE, GREEN, RED, NEAR INFRARED) โดยภาพ Panchomatic มีความละเอียดจุดภาพ 0.5 เมตร และภาพ Mutispectral มีความละเอียดจุดภาพ 2 เมตร ซึ่งจัดจำแนกอยู่ในกลุ่มดาวเทียมกลุ่มที่ 6 (ความละเอียดช่วง 0.4-0.75 เมตร) เช่นเดียวกับดาวเทียม Pléiades, GeoEye-1, WorldView-1, WorldView-2 และ QuickBird

การใช้ประโยชน์

การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรมีหลายวิธี ซึ่งขึ้นอยู่กับความเฉพาะเจาะจงของภารกิจ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ข้อมูลจากดาวเทียมเป็นข้อมูลสนับสนุน และติดตามนโยบายการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยมีตัวอย่างการใช้งานที่มักใช้ข้อมูลดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเป็นประจำได้แก่

1.การเกษตร : ดาวเทียมสามารถใช้สำรวจพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงการจัดการแปลงนาหรือแปลงเพาะปลูก โดยวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียม เช่น ภาพถ่ายและข้อมูลทางดาราศาสตร์ เพื่อควบคุมการใช้น้ำและปริมาณผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

2.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ คาร์บอนเครดิต : ดาวเทียมสามารถช่วยในการติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในป่าไม้ ยิ่งภาพถ่ายมีความละเอียดสูงยิ่งสามารถติดตามได้ถึงระดับประเภทต้นไม้ในป่า เมื่อนำมารวมกับนโยบายการซื้อข่ยคาร์บอนเครดิต ข้อมูลภาพถ่ายป่าที่ถูกรวบรวมมาวิเคราะห์จะชี้ให้เห็นง่าปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของแต่ละพื้นที่ป่า ที่สามารถนำไปคำนวณเป็นเครดิตได้อีกต่อหนึ่ง

และยังรวมถึงการควบคุมติดตาม ระบบน้ำ รับบทชลประทาน และพื้นที่ที่มีค่าอื่น ๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพขึ้น

3.การตรวจสอบสภาพแวดล้อม : ดาวเทียมช่วยในการสำรวจปริมาณของสิ่งที่จำเพาะเจาะจงที่ต้องการได้ เช่น ขยะพลาสติกในมหาสมุทร การตรวจสอบปริมาณเก็บสะสมของก๊าซเรือนกระจก หรือที่น่าจะใช้ได้อย่างดีคือ การสำรวจและติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถติดตามได้ก่อนและหลังฝุ่นก่อตัว เพื่อนำไปสู่การทำนโยบายจัดการปัญหาได้ จากการจัดทำข้อมูลที่รวมภูมิอากาศ สภาพอากาศ และสภาพแวดล้อมของโลก

4.การสำรวจแหล่งพลังงาน : ดาวเทียมช่วยในการค้นหาแหล่งพลังงานที่จะสามารถนำมาใช้ในอนาคต เช่น การค้นหาแหล่งน้ำร้อนใต้ดิน แหล่งน้ำเย็น หรือแหล่งเชื้อเพลิงที่น่าสนใจ

5.การควบคุมสถานการณ์ภัยธรรมชาติ : ดาวเทียมสามารถตรวจสอบสถานการณ์ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม น้ำทะเลสูง แผ่นดินไหว และพายุไซโคลน เพื่อช่วยในการเร่งดำเนินการช่วยเหลือและการวางแผนป้องกัน

6.ด้านกิจการความมั่นคง : ปกติแล้วแผนที่ทหาร จะมีการอัพเดตทุก 4-5 ปี แต่ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจพื้นผิวโลกทำให้ฝ่ายคงามมั่นคงภายในสามารถจัดทำแผนที่ยุทธศาสตร์ได้รวดเร็ว และเลือกพื้นที่เฉพาะเจาะจงได้ดียิ่งขึ้น ทำให้บริเวณชายแดนหรือป่าเขาที่ต้องเดินเข้าสำรวจและวางแผนยุทธศาสตร์ทำได้ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น