วิธีลงทะเบียนแอป ThaID ยืนยันตัวตน แก้หนี้นอกระบบ ทำอย่างไร

แอป ThaID

เปิดวิธีสมัครแอปพลิเคชั่น ThaID (ไทยดี) เพื่อยืนยันตัวตนลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบทางออนไลน์ ทำได้ที่ไหน มีขั้นตอนอย่างไร

หลังจากนโยบายรัฐบาลที่ได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ได้มีการสั่งการแก้ไขหนี้นอกระบบ ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกจังหวัด อำเภอ และสำนักงานเขต ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ

พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบที่มีความประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ หรือให้ทางราชการแก้ไขปัญหาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 – 29 ก.พ. 2567 ซึ่งลงทะเบียนทางออนไลน์ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. – 23.00 น.

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมวิธีการลงทะเบียนแอปพลิเคชั่น ThaID ขั้นตอนการติดตั้งแอปพลิเคชั่น การพิสูจน์ตัวตน และขั้นตอนการลงทะเบียนระบบแก้ไขหนี้นอกระบบ

2 ช่องทางลงทะเบียนแอป ThaID

การเริ่มต้นใช้งานแอปพลิเคชั่น ThaID สามารถทำได้โดยเริ่มต้นจากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ThaID โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ iOS และ Android ก่อนเริ่มใช้งาน

จากนั้นสามารถลงทะเบียนใช้งานพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ด้วยแอปพลิเคชั่น ThaID โดยสามารถลงทะเบียนได้ 2 วิธี

    1. สามารถลงทะเบียนได้ด้วยตนเองผ่าน แอปพลิเคชั่น ThaID
    2. ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ โดยนำโทรศัพท์มือถือและบัตรประจำตัวประชาชน มายังสำนักทะเบียนให้บริการการออกบัตรประจำตัวประชาชนทั่วประเทศ

ลงทะเบียนแอป ThaID ด้วยตนเอง

การลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น ThaID ด้วยตนเอง มีขั้นตอนดังนี้

    1. เลือกหัวข้อ “ลงทะเบียนด้วยตนเอง”
    2. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อทำการลงทะเบียน
    3. ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน
    4. ถ่ายรูปหลังบัตรประจำตัวประชาชน
    5. ตรวจสอบข้อมูลบัตรประชาชน หากถูกต้องทั้งหมดให้กดยืนยัน
    6. ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
    7. สร้างรหัสผ่าน 8 หลัก โดยจะต้องไม่เรียงกันและไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234 หรือ 1111
    8. ระบบแจ้งเตือนข้อความยินยอม จากนั้นระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นครั้งแรก

การลงทะเบียนแอป ThaID ผ่านเจ้าหน้าที่

สำหรับการลงทะเบียนแอป ThaID ผ่านเจ้าหน้าที่ สามารถติดต่อได้ที่สำนักทะเบียนให้บริการการออกบัตรประจำตัวประชาชนทั่วประเทศ โดยมีขั้นตอนการลงทะเบียน ดังนี้

    1. เลือกหัวข้อ “ลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่”
    2. นำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด มอบให้แก่เจ้าหน้าที่
    3. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อทำการลงทะเบียน
    4. ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ถูกต้อง
    5. สแกนลายพิมพ์นิ้วชี้กับเจ้าหน้าที่
    6. สแกน QR code บนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ด้วยแอปพลิเคชั่น ThaID
    7. สร้างรหัสผ่าน 8 หลัก โดยจะต้องไม่เรียงกันและไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234 หรือ 1111
    8. ระบบแจ้งเตือนข้อความยินยอม จากนั้นระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นครั้งแรก

ขั้นตอนการยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนระบบแก้ไขหนี้นอกระบบ ผ่านแอป ThaID

การยืนยันตัวตน เพื่อลงทะเบียนระบบแก้ไขหนี้นอกระบบ ผ่านแอป ThaID มีขั้นตอนดังนี้

    1. กดปุ่ม เริ่มลงทะเบียน
    2. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียน
    3. ใช้แอปพลิเคชั่น ThaID สแกน QR Code เพื่อยืนยันตัวตน
    4. กดปุ่มยินยอม
    5. กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลตามแบบฟอร์มการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ

หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทย จะประสานงานท่านเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้สินในลำดับถัดไป โดยสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้ที่เมนู ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน

กรณีไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ สามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเองที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตใกล้บ้าน หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ช่องทางการติดต่อ – กลุ่มงานทวงถามหนี้ส่วนอำนวยความเป็นธรรม โทร. 02-3569660 หรือ ศูนย์ดำรงธรรม  โทร. 1567

แอป ThaID ทำอะไรได้อีกบ้าง

นอกจากการยืนยันตัวตนเพื่อลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบแล้ว แอปพลิเคชั่น ThaID ใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน รวมถึงการเปรียบเทียบภาพใบหน้าทางดิจิทัล เมื่อประชาชนเข้าไปใช้บริการจากทางภาครัฐหรือภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตน โดยไม่ต้องกรอกข้อมูล หรือใช้แทนเอกสารยืนยันตัวตน

โดยแอป ThaID สามารถใช้ยืนยันตัวตนกับระบบต่าง ๆ ได้ดังนี้

    • งานทะเบียนออนไลน์ เช่น การใช้แทนบัตรประชาชน การตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ การคัดรับรองเอกสารด้วยตนเอง
    • การยื่นภาษีออนไลน์ (e-Filing) และระบบตรวจสอบข้อมูลของกรมสรรพากร (My Tax Account)
    • ระบบ Health link โดยสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.)
    • ระบบยื่นคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมออนไลน์
    • แอปพลิเคชัน เงินเด็ก โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน
    • ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
    • ระบบแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
    • ระบบ DIP e-services โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา 9
    • ระบบ SEIS โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
    • ระบบจองหมายเลขทะเบียนรถยนต์ผ่านอินเตอร์เน็ต
    • ระบบ LandsMaps ของกรมที่ดิน
    • สมุดสุขภาพ
    • ระบบ Admission มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    • ระบบงานคดีปกครอง
    • ระบบสารสนเทศในการให้บริการประชาชน (Local Service)
    • แอปพลิเคชั่น ทางรัฐ
    • ระบบกลางการให้บริการภาครัฐผ่านระบบ Online
    • แอปพลิเคชัน My GPF
    • ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค

โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมใช้ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับกรมการปกครองเพิ่มขึ้นอีกต่อไป