เจ้าหน้าที่กรมวิทย์ ร่วมลูกเขยจัดซื้อเท็จ พบ 10 ปี เสียหายกว่า 51 ล้าน

เจ้าหน้าที่กรมวิทย์ ทุจริต จัดซื้อเท็จ
ภาพจาก ข่าวสด

ตำรวจจับกุม 2 แม่-ลูก เจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมลูกเขย ทำเอกสารจัดซื้อเท็จ ตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี พบความเสียหายรวมกว่า 51 ล้านบาท

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. มอบหมายให้ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พร้อมด้วย พ.ต.อ.สิทธิพร กระสิ ผกก.2. บก.ปปป., นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท., พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2, เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ปปง.

นำกำลังตรวจค้น 5 เป้าหมาย ใน จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และ กทม. หลังสืบสวนพบมีข้าราชการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทำทุจริตต่อหน้าที่

สำหรับเป้าหมายหลักอยู่ที่ อาคาร 14 ตึก 100 ปี การสาธารณสุขไทย ภายในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมืองนนทบุรี พร้อมจับกุม นางจรรยา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี นักวิชาการพัสดุ ฝ่ายพัสดุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ น.ส.รัตนาภรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน ฝ่ายบริหารทั่วไป

ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 29-30/2566 ลงวันที่ 6 ธ.ค. 2566 ข้อหา ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ

ส่วนเป้าหมายที่สองเข้าจับกุม นายอานนท์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี กรรมการบริษัทแห่งหนึ่ง ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ที่ 31/2566 ความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้ตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ได้ที่บริษัทใน ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

ทั้งนี้ ก่อนหน้าเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ร่วมกันจัดทำเอกสารเท็จ จัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์ โดยไม่มีการส่งมอบวัสดุตามใบจัดซื้อ มูลค่าความเสียหายเฉพาะปี 66 รวมแล้วกว่า 8 ล้านบาท ก่อนจะมีการเข้าจับกุมดังกล่าว

เบื้องต้นสอบสวน นางจรรยา ให้การรับสารภาพ ส่วน น.ส.รัตนาภรณ์ ให้การภาคเสธ ก่อนนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ดำเนินคดี

10 ปี ทุจริตกว่า 700 ครั้ง เสียหายกว่า 51 ล้านบาท

นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการ ปปท. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รรท.อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 น.ส.ปราณี สถิตชัยเจริญ รองโฆษก สำนักงาน ปปง.และ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. พ.ต.อ.สิทธิพร กสิ ผกก.2 บก.ปปป.

ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุม นางจรรยา (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 54 ปี นักวิชาการพัสดุ ฝ่ายพัศดุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ น.ส.รัตนาภรณ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ลูกสาว และนายอานนท์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 32 ปี ลูกเขย ทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1

ข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ต้องหาถูกจับพร้อมของกลางเงินสด 4,600,000 บาท ปืนพกออโตเมติก และปืนลูกโม่ 6 กระบอก, โฉนดที่ดิน 6 ฉบับรถยนต์ 4 คัน, นาฬิกาโรเล็กซ์ จำนวน 6 เรือน และกระเป๋าแบรนด์เนมอีก 6 ใบ

นายภูมิศาล กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์แค่ 4 บรรทัด ที่ระบุใจความสำคัญถึงกระบวนการของผู้ต้องหา

ซึ่งระบุว่า “ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่อ อยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดนั้นไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย” เมื่อตรวจสอบก็พบพฤติกรรมว่าทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง

นายภูมิศาล กล่าวต่อว่า นางรัตนาภรณ์ นั้นเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้าง ก่อนเสนอต่อ นางจรรยา หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และมีความสัมพันธ์เป็นแม่ลูกกันนั่นเอง ซึ่งตามตำแหน่งนางจรรยามีอำนาจอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีงบประมาณไม่เกิน 1 แสนบาท

เมื่อรับอนุมัติงบประมาณแล้วก็จะมีการสั่งซื้อพัสดุในนาม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. โดยสั่งซื้อจากบริษัท ซึ่ง มีนายอานนท์ ลูกเขยเป็นเจ้าของบริษัท

เบื้องต้นพบรายการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่พฤศจิกายน 2565 จนถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2566 พบการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 89 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 8,865,640.15 บาท

ส่วน พ.ต.ท.สิริพงษ์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาใช้การกระทำซ้ำ ๆ แต่มีข้อพิรุธคือมีเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด และการกระทำของ นางจรรยา กับกรรมการตรวจรับนั้นไม่สอดคล้องกัน โดยมีการปลอมรายมือชื่อ ผอ.และ กรรมการตรวจรีบอีก 2 รายชื่อ ในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง

ผู้ต้องหาอาศัยช่องว่างของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง คือใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงงบประมาณที่ไม่เกิน 1 แสนบาท และเลือกซื้อรายการ วัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็ก ๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งของเหล่านี้เป็นวัสดุชิ้นเล็กแต่สิ้นเปลือง และมีราคาสูง

การจัดซื้อตัวผู้ต้องหาสามารถกระทำการได้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดหลายปี เพราะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว

ด้าน พล.ต.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ส่วนการขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องคือบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ คือเบื้องต้นพบพฤติกรรมการซื้อซ้ำ ๆ กับบริษัทเดิม 2 บริษัท คือ บริษัท เอ็น วาย พลัส จำกัด ซึ่งมีสามีของ นางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของ เปิดดำเนินการ ปี 2554 ปีงบประมาณ 2566 พบการซื้อ 44 ครั้ง รวม 153 รายการ เป็นเงินมากกว่า 4,300,000 บาท

อีกบริษัทคือ บริษัท กู้ด แฟมิลี่ เปิดดำเนินกิจการในปี 2556 พบการสั่งซื้อ 45 ครั้ง เป็นเงินมากกว่า 4,400,000 บาท ซึ่งบริษัทมีนี้ นางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของบริษัทเอง โดย นางจรรยา รับข้าราชการที่สถาบันชีววิทยาวิทยาศาสตร์ มานานกว่า 30 ปีแล้ว

จึงตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี พบมีการจัดซื้อจัดจ้าง 721 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมากกว่า 51,300,000 บาท สำหรับตัวผู้ต้องหาหลังจากนี้ก็กำลังพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ก็อยู่ที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หรือไม่

ขณะที่ นพ.ยงยศ กล่าวว่า ตนเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับการร้องเรียนผ่านบัตรสนเทห์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงรีบประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ตรวจสอบในทันที ยอมรับว่าผู้ต้องหาสร้างความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก หลังจากนี้จะยังมีการขยายผลว่า มีใครรู้เห็นหรือได้ผลประโยชน์กับกลุ่มผู้ต้องหาด้วยหรือไม่หากพบก็จะไม่มีการละเว้นเด็ดขาดด้วย