สวนดุสิตโพลเผย มากกว่าครึ่งมองภาครัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้

สวนดุสิตโพล ฝุ่น PM 2.5

สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจ พบกลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งค่อนข้างกังวลปัญหาฝุ่น PM 2.5 กว่า 74% เชื่อภาครัฐแก้ปัญหาไม่ได้

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “คนไทยกับฝุ่น PM 2.5” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,123 คน สำรวจระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2566 พบว่า กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างวิตกกังวลกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ร้อยละ 48.89 โดยมองว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะการเผาไร่นา เผาป่า ไฟป่า ร้อยละ 79.04

ประชาชนมีวิธีรับมือด้วยการติดตามข่าวสารและแนวทางปฏิบัติจากภาครัฐ ร้อยละ 78.72 และเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แก้ไขได้ยาก คือ การเผาไร่นา เผาป่านั้นเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ร้อยละ 82.87 ด้านรัฐบาลควรมีมาตรการควบคุมและบทลงโทษที่เด็ดขาด ร้อยละ 85.89 สุดท้ายมองว่ารัฐบาลคงจะแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ ร้อยละ 74.53

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนวิตกกังวลมากขึ้นว่าอาจกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ด้านรัฐบาลก็ออกมาแนะนำให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งและเร่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ซึ่งประชาชนเองก็พร้อมปฏิบัติตามข้อแนะนำจากทางภาครัฐ แต่ด้วยปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี แต่วิธีแก้ปัญหายังเน้นการตั้งรับ จึงทำให้ประชาชนยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาล (ใหม่) จะแก้ปัญหานี้ได้

ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบสะสมต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยในระยะยาว ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคพบว่าสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยจะมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากมีสภาพความกดอากาศต่ำหรือสภาพอากาศปิด

ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศจากอัตราการระบายอากาศไม่ดี รวมทั้งยังคงมีแหล่งมลพิษทางอากาศซึ่งยังไม่สามารถควบคุมให้ลดลงได้ และเมื่อพิจารณาสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกับผลสำรวจ “คนไทยกับฝุ่น PM 2.5” จะพบว่าเมื่อคนไทยหนีฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ จึงต้องเรียนรู้อยู่กับฝุ่นให้สุขภาพไม่พัง ด้วยการเฝ้าระวังและป้องกันตนเอง

หลีกเลี่ยงการรับฝุ่นเข้าสู่ร่างกายเมื่อมีการแจ้งเตือนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งมีการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ในวันที่มีปริมาณฝุ่นหนาแน่น

และสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกันทุกภาคีเครือข่าย เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การจัดการอย่างยั่งยืน ลดปัญหาโลกรวนที่ทำให้ความรุนแรงของมลพิษทางอากาศมากขึ้นได้