ฤดูฝุ่นมลพิษ PM 2.5

ฝุ่นPM2.5
บทบรรณาธิการ

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝุ่นมลพิษ PM 2.5 อีกครั้งโดยฤดูฝุ่น PM 2.5 จะครอบคลุมยาวนาน ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน หรือประมาณเกือบ 6 เดือนเต็ม

จากการรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ล่าสุดพบหลายจังหวัดในประเทศมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับ “สีแดง” หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น

เฉพาะที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล บางวันมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐาน หรือพื้นที่สีแดงมากกว่า 40 เขตขณะที่อีกหลาย ๆ เขตค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม หรือคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพเกิดขึ้น และยิ่งเมื่อหันมาพิจารณาจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาในพื้นที่โล่ง พบว่าเกิดจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตรมากที่สุด รองลงมาพบจุดความร้อนในพื้นที่ชุมชน รวมทั้งจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่การรับมือกับปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งอยู่สถานะนี้ติดต่อกันเนิ่นนานมาหลายปี กลับตกอยู่ในสถานการณ์ “ตั้งรับ” ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับประเทศ

ดูเหมือนว่าหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 จะใช้วิธีมอบอำนาจหน้าที่ลงไปสู่ระดับจังหวัด จึงเริ่มมีภาพการตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มากขึ้น แม้การแก้ไขปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 จะไม่สามารถขจัดให้หมดไปในชั่วเวลาแค่ข้ามคืน แต่ปัญหานี้ในฐานะวาระแห่งชาติ ก็ไม่ควรที่ค่าฝุ่นจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 อันเกิดมาจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ในเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันดีเซล

ฝุ่นที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างในโครงการใหญ่ ๆ การเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไร่ หรือการเผาอ้อย ซึ่งนับวันไม่ได้ลดลงมาเลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณจ่ายเงินเพิ่มในการตัดอ้อยสดก็ตามรวมถึงการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการทำไร่ข้าวโพดที่มีปลายทางอยู่ที่การส่งเข้ามาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศแทบทั้งสิ้น

จึงควรที่รัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายและวิธีการลดฝุ่นมลพิษอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นออกกฎหมายอากาศสะอาด การลดปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล การควบคุมการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ การเลิกเผาอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล ไปจนถึงการควบคุมวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยปราศจากการตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบ

หากไม่ดำเนินการเสียแต่วันนี้ ในปีต่อ ๆ ไปคนไทยก็จะต้องเผชิญฝุ่นมลพิษซ้ำแล้วซ้ำเล่าเฉกเช่นการค้างคาของ “วาระแห่งชาติ” โดยไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด