ชื่อสายพันธุ์​โควิดมาจากไหน ทำไมตัวเดียวมีหลายชื่อ

นพ.ยง ภู่วรวรรณ

หมอยงอธิบายหลักการตั้งชื่อไวรัสโควิด-19 ทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อจริง และชื่อเล่น ความหมายของอักษรภาษาอังกฤษและตัวเลข 

วันที่ 24 มกราคม 2567 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายหลักการตั้งชื่อสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ทั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อจริง และชื่อเล่น

นพ.ยงอธิบายว่า ตั้งแต่มีการระบาดของไวรัส Corona ปลายปี พ.ศ 2562 ต่อมาตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า SARS Corona Virus 2 (SARS-CoV-2) ในระยะแรกมี 2 สายพันธุ์ เราเรียกว่าสายพันธุ์ L และ S (คือ NS8/L84S L = leucine, S = Serine) ตำแหน่งที่ 84 บนยีนส์ NS8 ใน ORF1a มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมจาก L เป็น S สายพันธุ์ที่เริ่มระบาดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ S สายพันธุ์ L ไประบาดมากในยุโรป และต่อมามีการกลายพันธุ์บน Spike Gene ในตำแหน่งที่ 614 (D614G) เกิดเป็นสายพันธุ์ G ติดง่ายแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม

ในอดีตที่ผ่านมาการกลายพันธุ์มีการเฝ้าระวังมากที่สุดคือ ไข้หวัดใหญ่ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์สร้างฐานข้อมูลสาธารณะ GISAID (Global Initiative on Sharing All Influenza Data) โดยเริ่มต้นเป็นการแบ่งปันข้อมูลทางด้านไข้หวัดนกก่อน (the Global Initiative on Sharing Avian Influenza Data) และเมื่อมาถึงยุคของโควิด-19 ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน เป็นศูนย์กลางการแบ่งปันข้อมูลไวรัสก่อโรคโควิด-19

ปัจจุบันมีการบรรจุข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งตัวของไวรัสโควิด-19 มากกว่า 16 ล้านตัว และบางส่วนอีกเป็นจำนวนมาก การแบ่งสายพันธุ์ที่มีการแปรเปลี่ยน ถูกกำหนดขึ้น ใช้ชื่อว่าแบ่งแบบ Pangolin (ตัวนิ่ม ลิ่น ที่สงสัยต้นตอไวรัส) โดยใช้อักษร ABC นำ แล้วจุดต่อเช่น A.1…, A.1.1., A1.1.1 ตัวเลขเพิ่มได้ เมื่อครบ 3 ตำแหน่ง ก็จะเป็นอักษร B จนถึง Z และเมื่อครบแล้วก็จะเป็น AA…ZZ ถ้ามีการผสมข้ามสายพันธุ์ (Recombination) ก็จะขึ้นตัวอักษรเป็น X แล้วตามด้วย A.. B.. เช่น XA, XB.., XBB.1.16

ชื่อวิทยาศาสตร์เข้าใจยาก WHO ปิ๊งไอเดียอักษรกรีก

การกำหนดดังกล่าวเป็นการยากที่จะเข้าใจสำหรับประชาชนทั่วไป องค์การอนามัยโลกจึงแบ่งกลุ่มแล้วใช้อักษรกรีกมาเป็นตัวกำหนด เป็น Alpha, Beta, Gamma, .. Omicron

เมื่อมาถึงยุค Omicron การกลายพันธุ์เกิดขึ้นจำนวนมาก จะเห็นว่าตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.2.86..BA.5 EG.1.5, HK.3 XBB.1.5, XBB.1.16, JN.1 มีกลุ่มย่อยมากมายจนยากจะเข้าใจหรือจดจำ

ชื่อเล่นสไตล์เทพนิยายกรีก-ดวงดาว

Ryan Gregary นักวิวัฒนาการชาวแคนาดาตั้งชื่อเล่น (Nickname) โดยใช้ชื่อเทพนิยายของกรีก สัตว์ในเทพนิยายต่าง ๆ แม้กระทั่งดวงดาวมากกว่า 20 ชื่อ แทนการเรียกตาม Pangolin เช่น BA.2.75 เป็น Centaurus XBB.1.15 เป็น Kracken (ปลาหมึกยักษ์) KBB .1.16 คือ Arcturus (ดาวดวงแก้ว) BA.2.86 ตั้งชื่อว่า Pilora (ชื่อของดาวเคราะห์น้อย) เพื่อให้จดจำได้ง่าย

ขณะนี้ JN.1 ที่กำลังระบาดมากทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยังไม่ได้มีการตั้งชื่อเล่น (ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่เกิดในบ้านเรา เราน่าจะตั้งชื่อพระอภัยมณี หรือขุนแผน และต่อมาลูกของสายพันธุ์นี้ จะได้ตั้งชื่อว่าเป็นสุดสาคร หรือพลายงาม ถ้าเราตั้งชื่อ ไม่รู้จะมีใครมาเรียกชื่อนี้กับเราหรือไม่)

การระบาดในไทยระลอกแรกในปี พ.ศ 2563 เป็นสายพันธุ์ S ต่อมาระบาดในระลอกที่ 2 ปลายปี 2563 ที่ตลาดกลางกุ้ง สายพันธุ์ระบาดเป็นสายพันธุ์ G (D614G) ในปีต่อมา 2564 การระบาดเกิดขึ้นที่สถานบันเทิงที่ทองหล่อ เป็นสายพันธุ์ Alpha และระลอกที่ 4 กลางปี 2564 เป็นสายพันธุ์ Delta ส่วนสายพันธุ์ Omicron เริ่มระบาดตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นระยะเวลาค่อนข้างที่จะยาวนาน มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ย่อยโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน (มกราคม 2567) เป็นสายพันธุ์ JN.1

สายพันธุ์ที่ระบาดและครองพื้นที่ส่วนใหญ่จะเบียดบังและกดสายพันธุ์เดิมให้หายไป เพราะสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายได้เร็วกว่า ติดต่อได้ง่ายกว่า หรือมีลูกหลานได้มากกว่าก็จะเป็นสายพันธุ์เด่น ด้วยกฎเกณฑ์ของวิวัฒนาการ สายพันธุ์ที่เกิดใหม่จะติดต่อง่าย แพร่กระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมมาตลอด และจะลดความรุนแรงของโรคลง เพื่อความอยู่รอดตามทฤษฎี Natural Selection ของ Charles Darwin และโรคโควิด-19 ก็จะอยู่กับเราเป็นโรคประจำฤดูกาลต่อไป โดยการระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ให้บทเรียนทางวิทยาศาสตร์กับเราเป็นจำนวนมาก