เปิดคำพิพากษา ศาลให้ ไอทีวี ชนะคดีข้อพิพาท สปน. บอกเลิกสัญญา

ไอทีวี ITV ข้อพิพาท คำพิพากษา

เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ ไอทีวี ชนะคดีข้อพิพาท สปน. บอกเลิกสัญญาร่วมงานโทรทัศน์ระบบ UHF ไม่ต้องชำระหนี้ 2,890.35 ล้านบาท หลังฟ้องร้องมานานกว่า 16 ปี

วันที่ 25 มกราคม 2567 จากกรณีที่ ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 1948/2563 ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ร้อง) กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ผู้คัดค้าน) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ผ่านมานั้น

สำนักงานศาลปกครองเผยแพร่เอกสารข่าวศาลปกครอง ซึ่งระบุถึงคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 หมายเลขแดงที่ 1/2559 กรณีวินิจฉัยว่า สปน. และไอทีวี ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ

โดยระบุว่า คดีสืบเนื่องมาจากศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 หมายเลขแดงที่ 1948/2563 ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้อง และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน

ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 1/2559 (ที่วินิจฉัยโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า 1.การบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.ให้ผู้ร้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน 2,890.35 ล้านบาท 3.ผู้คัดค้านต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างตามสัญญาเข้าร่วมงาน ให้แก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 2,890.35 ล้านบาท 4.ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกันในจำนวนเงินเท่ากัน คือ 2,890.35 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน)

Advertisment

ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นเพียงการโต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อกฎหมายและข้อสัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

ประกอบกับคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538

โดยได้มีการดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการ แม้ข้อพิพาทหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) เป็นคดีหมายเลขดำที่ 640/2550

และผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ขอให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกค่าตอบแทนขั้นต่ำพร้อมดอกเบี้ย และค่าปรับ แม้คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม แต่ไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติห้ามไม่ให้คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทในเรื่องเดียวกัน

Advertisment

ประกอบกับศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแล้ว ไม่ใช่กรณีคู่กรณีฝ่ายเดียวกันยื่นคำเสนอข้อพิพาทหรือข้อเรียกร้องในเรื่องเดียวกันและการเสนอข้อพิพาททั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้นเป็นการเสนอข้อพิพาทต่อองค์กรชี้ขาดคนละองค์กร จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการเสนอข้อพิพาทซ้อน

คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการและไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ซึ่งเป็นข้อพิพาทในเรื่องเดียวกันกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 และยังมิได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้คัดค้านได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 ต่อไป ข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นจึงไม่อาจยุติหรือระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการ

ต่อมา ผู้คัดค้านได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเข้าร่วมงาน โดยบอกเลิกสัญญา ขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาเข้าร่วมงาน ผู้คัดค้านจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาท และมูลพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ผู้คัดค้านได้กล่าวอ้างเกิดจากการที่ผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงาน โดยไม่มีสิทธิหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการเสนอข้อพิพาทคนละเรื่องกับข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 คำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 จึงไม่เป็นการเสนอข้อพิพาทซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550

คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่เป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกันซึ่งเป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ตามมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

ข้ออ้างของผู้ร้องดังกล่าวไม่ใช่เหตุที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งไม่ใช่กรณีที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตรงกับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (2) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

และไม่ปรากฏว่ามีตุลาการศาลปกครองชั้นต้นในองค์คณะซึ่งพิจารณาคดีนี้ได้มีความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษา และไม่ใช่เป็นกรณีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำอุทธรณ์ที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

ศาลปกครองสูงสุดจึงต้องมีคำสั่งยกอุทธรณ์ตามข้อ 108 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ให้ส่งสำเนาคำอุทธรณ์ของผู้ร้องให้คู่กรณีในอุทธรณ์จัดทำคำแก้อุทธรณ์ รวมทั้งกระบวนพิจารณาที่ได้ดำเนินการต่อมาทั้งหมด ตามข้อ 7 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 และมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ร้อง

“ไอทีวี” เตรียมประชุมผู้ถือหุ้น หาทิศทางต่อไป

ขณะที่ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้คัดค้านในคดีนี้ ได้มีการออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 25 มกราคม 2567 ระบุโดยสรุปว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ได้พิพากษายกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งมีผลให้คดีนี้ถึงที่สุด โดยบริษัทและ สปน. ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,890,345,205.48 บาท

หนังสือถึงผู้ถือหุ้นระบุเพิ่มเติมว่า จากผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทไม่มีหนี้ที่ต้องชำระ หรือภาระหน้าที่ หรือความรับผิดตามสัญญาเข้าร่วมงาน หรือภาระผูกพันใด ๆ อีกต่อไป และบริษัทจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาทิศทางต่อไป

ย้อนเส้นทาง คดีข้อพิพาท สปน. บอกเลิกสัญญา ไอทีวี

สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง สปน. และบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงธันวาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้ สปน. ชนะคดี และเพิกถอนคำชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการ กรณีการแก้ไขสัญญาเข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2547 โดยให้แก้ไข ดังนี้

  1. ปรับลดค่าสัมปทานรายปี เดิมจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท (ตามสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้ต้องจ่ายให้รัฐปีละ 1,000 ล้านบาท ในปีที่ 8-30 ของสัมปทาน) เหลือปีละ 230 ล้านบาท
  2. ปรับสัดส่วนผังจากเดิน 70 ต่อ 30 ให้เป็น 50 ต่อ 50 และตัดเรื่องการบังคับให้ช่วงไพรมไทม์ ต้องมีเฉพาะข่าว-สาระอย่างเดียวออกไป

ศาลปกครองสูงสุดระบุว่า เป็นการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไอทีวีต้องกลับไปจ่ายค่าสัมปทานที่ 1,000 ล้านบาทต่อปีตามเดิม และปรับผังกลับไปที่สัดส่วนเดิม

ขณะเดียวกัน สปน. สั่งให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายค่าปรับการทำผิดสัมปทาน และค่าสัมปทานค้างจ่าย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ค่าปรับกรณีการปรับผังรายการ ไม่เป็นไปตามข้อสัญญา

คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 10 ของผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับ โดยคิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท และเริ่มคำนวณตั้งแต่วันที่ปรับผังรายการไม่เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน

ข้อมูลพบว่า ไอทีวีมีการปรับผังรายการตั้งแต่ 1 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากคณะอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทาน

เมื่อนับย้อนไปตั้งแต่วันเริ่มปรับผังจนถึงวันมีคำตัดสินให้เพิกถอนคำชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด เท่ากับต้องจ่ายอย่างน้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาท

ค่าสัมปทานที่ค้างจ่าย จำนวน 3 ก้อน คือ

  • ปีที่ 9 จํานวน 670 ล้านบาท
  • ปีที่ 10 และ 11 ปีละ 770 ล้านบาท
  • รวม 2,210 ล้านบาท

และบวกดอกเบี้ยในอัตรา 15% ต่อปี นับจากวันที่ชำระค่าสัมปทานล่าช้า

และไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายและค่าปรับที่เกิดขึ้นได้ ทำให้บริษัทถูกบอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 และชำระหนี้จำนวนหลักแสนล้านบาท และส่งมอบทรัพย์สิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ทำให้ไอทีวี หยุดดำเนินกิจการ

จากนั้นวันที่ 28 มีนาคม 2550 ไอทีวี โต้แย้งว่า การบอกเลิกสัญญา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไอทีวี ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ (ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550) เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2550 ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ว่า สปน.ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคดีนี้ ไอทีวี เรียกค่าเสียหายจาก สปน. จำนวน 21,814 ล้านบาท

นอกจากนี้ ไอทีวียังมีการฟ้องร้อง สปน. ในอีกหลายประเด็น ทั้งเรียกค่าเสียหาย และการขอคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉิน เกี่ยวกับการมีผลบังคับใช้ของ พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ จนกว่าคดีของไอทีวีจะมีผลถึงที่สุด

กระทั่ง พ.ร.บ.สื่อสาธารณะ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลให้คณะอนุญาโตตุลาการ และ/หรือ ศาลปกครองกลางไม่อาจวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาให้ สปน. อนุญาตให้บริษัทกลับเข้าดำเนินการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ โดยใช้คลื่นความถี่และทรัพย์สินอุปกรณ์เครือข่ายเดิมต่อไปจนครบตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาเข้าร่วมงาน เดิมได้

เนื่องจากบรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงสิทธิ หน้าที่ และภาระผูกพันของบริษัทตามสัญญาเข้าร่วมงาน จะตกเป็นของรัฐตามบทเฉพาะกาล มาตรา 56 แห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว

แต่ยังมี 2 คดีระหว่าง สปน. และ บมจ.ไอทีวี ที่ยังมีผลทางกฎหมายต่อไป คือ

1. ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 1/2550 วันที่ 4 มกราคม 2550 บริษัท ไอทีวี เป็นโจทก์ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการขอให้พิจารณาเรื่องค่าปรับจากการปรับผังรายการและดอกเบี้ยจากค่าอนุญาตให้ดำเนินการส่วนต่าง

2. ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 46/2550 วันที่ 9 พฤษภาคม 2550 บริษัท ไอทีวี เป็นโจทก์ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการกรณี สปน. บอกเลิกสัญญาไม่ชอบและเรียกร้องหนี้สินไม่ชอบด้วยกฎหมายและสัญญา รวมทั้งยังเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำไม่ชอบดังกล่าวจำนวน 21,814 ล้านบาท

วันเวลาล่วงเลยไป จนกระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ไอทีวี ได้รับคำชี้ขาดจากสถาบันอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 14 มกราคม 2559 ระบุว่า การบอกเลิกสัญญาของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ สปน. ชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน 2,890.35 ล้านบาท

ขณะเดียว ไอทีวีต้องชำระค่าตอบแทนส่วนต่างตามสัญญาเข้าร่วมงาน ให้แก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 2,890.35 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้ปรับลดค่าตอบแทนตามสัญญา ระหว่างไอทีวี กับ สปน.

ทำให้ทั้ง สปน. และไอทีวี ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกันในจำนวนเงินเท่ากัน คือ 2,890.35 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน

วันที่ 29 เมษยน 2559 สปน.ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำร้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 620/2559 และศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ยกคำร้องของ สปน.

ต่อมา วันที่ 15 มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.54/2564

และ 3 ปีต่อมา บทสรุปของคดีนี้จึงจบลง วันที่ 25 มกราคม 2567 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ยกคำร้องของ สปน. ด้วยเหตุว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งมีผลให้คดีนี้ถึงที่สุด

ทำให้ไอทีวี และ สปน. ต่างไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,890,345,205.48 บาท (สองพันแปดร้อยเก้าสิบล้านสามแสนสี่หมื่นห้าพันสองร้อยห้าบาทสี่สิบแปดสตางค์) และไม่มีความรับผิดตามสัญญาเข้าร่วมงานของ สปน. อีกต่อไป เป็นการปิดคดีข้อพิพาทระหว่าง ไอทีวี และ สปน. ที่ต่อสู้มานานกว่า 16 ปี