หยุดยาวหนองคายคึกคัก! ประชาชนแห่สักการะพระธาตุกลางน้ำ-เที่ยววัดแขก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 กรกฎาคม 2560) พุทธศาสนิกชนเดินทางมาทำบุญไหว้พระและท่องเที่ยวที่จังหวัดหนองคายในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษาวันที่ 2 กันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่พระธาตุกลางน้ำและวัดแขก ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย

โดยบรรยากาศการท่องเที่ยวและการทำบุญที่จังหวัดหนองคาย ในช่วงวันหยุดยาววันที่ 2 ของเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ยังคงคึกคัก ไม่เฉพาะที่วัดโพธิ์ชัยพระอารามหลวง แต่ที่พระธาตุกลางน้ำหรือพระหล้าหนอง และที่ศาลาแก้วกู่หรือวัดแขก ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในตัวเมืองหนองคาย ที่ได้รับความนิยมจากพุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยทางเทศบาลเมืองหนองคาย ได้สร้างโป๊ะแพไว้ริมฝั่งแม่น้ำโขงใกล้กับองค์พระธาตุกลางน้ำที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง ให้พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวได้ลงไปสักการะองค์ประธาตุและทำบุญปล่อยปลา

สำหรับพระธาตุหล้าหนองตามประวัติระบุว่า พระมหาสังขวิชเถระ หนึ่งในคณะ 8 อรหันต์ ได้รับมอบพระบรมธาตุพระบาทเบื้องขวา 9 องค์ไปประดิษฐานไว้ที่เมืองหล้าหนอง โดยสร้างอุโมงค์สำหรับประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ใต้พื้นดิน ขนาดกว้าง ยาว ด้านละ 2 วา 2 ศอก สูง 3 วา แล้วเอาแผ่นเงินบริสุทธิ์รองพื้น ก่อนนำพระบรมธาตุบรรจุในผอบทองคำมาประดิษฐานไว้ในพระอุโมงค์นั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2109 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้นำข้าราชบริพารจากเวียงจันทน์มาร่วมชาวหนองคาย ตั้งค่ายอยู่ที่วัดธาตุ ทำการก่อสร้างพระมหาเจดีย์ครอบอุโมงค์หล้าหนองคายซึ่ง ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปทรงแบบศิลปะล้านช้าง ฐานเจดีย์กว้าง 15.80 เมตร ตั้งชื่อว่า พระธาตุหล้าหนองคาย แต่ต่อมาน้ำโขงได้กัดเซาะตลิ่งพังเข้าถึงองค์พระธาตุทำให้พระธาตุพังลงในแม่น้ำโขง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 พ.ศ.2390 ปัจจุบันอยู่ห่างฝั่งไทยประมาณ 180 เมตร ต่อมาเทศบาลเมืองหนองคายได้ร่วมกับชุมชนต่าง ๆ จัดสร้างพระธาตุหล้าหนององค์จำลองขึ้นโดยใช้งบประมาณ 38,650,000 บาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2549

ส่วน “ศาลาแก้วกู่” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดแขก” เป็น สวนประติมากรรมปูนปั้นขนาดใหญ่ มีพื้นที่หลายสิบไร่ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของพุทธมามกะ (พุด-ทะ-มา-มะ-กะ) สมาคมจังหวัดหนองคาย สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของ “พ่อปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์” เมื่อราวปี พ.ศ. 2521 ตามความเชื่อว่าหลักคำสอนของทุกๆ ศาสนาสามารถนำมาผสมผสานกันได้ งานประติมากรรมปูนปั้นที่อยู่ภายใน ศาลาแก้วกู่แห่งนี้ ส่วนมากจะเป็นงานประติมากรรมที่บอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ตามตำนานความเชื่อทางพุทธศาสนา พราหมณ์ ฮินดู และคริสต์ แต่ก็มีงานประติมากรรมบางส่วนซึ่งได้จำลองเอาเหตุการณ์จากวรรณคดี สุภาษิตโบราณ หรือนิทานพื้นบ้าน นำมาจัดแสดงไว้เช่นกัน