“โควิด -19” ติดเชื้อบุคลากรการแพทย์ ในไทย คนแรก

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโคโรน่าโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ประเทศไทย โดยที่ประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ 3 ด้าน พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรน่าโควิด-19 รายใหม่ เพิ่ม 1 ราย เป็นคนไทย อายุ 35 ปี โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 27 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อยู่ในระบบการติดตามเฝ้าระวังของทีมสอบสวนควบคุมโรคตั้งแต่ต้น เพราะเป็นผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยยืนยันติดเชื้ออยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร

โดยตามมาตรการเมื่อหากมีการรับผู้ป่วยติดเชื้อมาทำการรักษาแล้ว จะมีการเฝ้าระวังโรคในบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยด้วยภายใน 14 วัน โดยบุคลากรใกล้ชิดดูแลผู้ป่วยทั้งหมดมีจำนวน 25 ราย แต่มี 1 รายที่พบว่ามีอาการไข้ มีระบบทางเดินหายใจจึงตรวจหาอาการ ล่าสุดพบการตรวจจากห้องปฏิบัติการ (แลป) พบว่าผลออกมาบวก คือมีการยืนยันติดเชื้อ ซึ่งขณะนี้ได้เข้ารับการรักษาอยู่ที่สถาบันบำราศฯ

เมื่อถามว่าบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจะส่งผลถึงความมั่นใจในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์รายนี้เป็น 1 ราย จาก 24 ราย ที่ต้องดูแลเฝ้าระวังใกล้ชิด เนื่องจากปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ป่วย โดยใน 24 รายที่เหลือไม่มีอาการป่วย ผลจากห้องแลปไม่พบเชื้อ แต่ด้วยหลักการจะต้องติดตามไม่น้อยกว่า 14 วัน และขวัญกำลังใจของบุคลากรยังดีอยู่ ผู้ป่วยยืนยันที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์รายนี้จากการสอบสวนโรคพบว่า ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงาน จึงเป็นความไม่เข้มแข็งในการป้องกันโรครายบุคลากร เนื่องจากใน 24 คนที่เหลือไม่มีการติดเชื้อ มีเพียง 1 รายที่ติดเชื้อ

“บุคลากรทางการแพทย์ มีความเสี่ยงสูงมากกว่าประชาชน ไม่ใช่แค่เพียงโรคนี้ แต่ยังมีโรคอื่นๆ เช่น ไข้หวัดตามฤดู วัณโรค ซึ่งวันที่ 19 กุมภาพันธ์จะมีการจัดอบรมบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรค” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

เมื่อถามว่าในรายที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อเป็นแพทย์หรือพยาบาล นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดการระบุในด้านอาชีพ เนื่องจากตามปกติผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้เกิดการตีตราในอาชีพ รวมถึงไม่อยากให้ประชาชนคิดว่าไม่ใช่อาชีพตนเอง จึงไม่จำเป็นต้องป้องกันโรค

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อดังกล่าวเป็นแพทย์หญิงคนหนึ่ง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์