ไฟเขียวผู้ประกันตนโดนผลกระทบโควิด-19 ลดส่งเงินสมทบ-รับชดเชยขั้นต่ำ 5,000 บาท 3เดือน

ครม.เห็นชอบผู้ประกันตนตามม.39  ลดการส่งเงินสมทบจากเดือนละ221 บาท เหลือ 86 บาท  พร้อมให้เพิ่มเงินชดเชยว่างงานเหตุสุดวิสัยเป็นไม่ต่ำกว่ารายละ 5,000 บาทต่อเดือน และขยายเวลาการรับประโยชน์ เป็น 3 เดือน

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ( 31 มี.ค.63) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง ขอทบทวนมติเกี่ยวกับประกันสังคม เพื่อบรรเทาภาระผู้ประกันตนในการนำส่งเงินสมทบ จึงขอทบทวนขอลดอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บสำหรับผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเอง โดยไม่มีนายจ้าง ตามมาตรา 39 โดยลดจากอัตราเดือนละ 221 บาท เหลือในอัตราเดือนละ 86 บาท

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบให้เพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีผู้ประกันตนที่ว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยบางรายได้รับเงินชดเชยในอัตราที่น้อยกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน  จึงขอเพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ได้รับสิทธิประโยชน์ในอัตราไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน

ม.ร.ว.จัตุมงคลฯ ยังกล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบให้เพิ่มอัตราและปรับระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานของผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 50 % ของค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคมเป็น 62 % ของค่าจ้างที่นำส่งประกันสังคม ระยะเวลา 90 วัน เนื่องจากมีผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยบางรายได้รับเงินชดเชยในอัตราที่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ในอัตราไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีผลตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 1 สำนักงานประกันสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ดังนี้

1. ข้อ 3 วรรคหนึ่ง จาก “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน” เป็น

“ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวัน”

2. ข้อ 3 วรรคสอง “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกินหกสิบวัน” เป็น

“ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวัน”