“มหาดไทย” สนธิกำลัง ตำรวจ-DSI สะกดรอยพวกกักตุนสินค้า ปูพรมค้นเคหสถานทั่วประเทศ

วันที่ 14 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ได้ลงนาม “คำสั่งแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497” มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนดในเขตท้องที่ของตน

โดยในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เช่น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (ฝ่ายทหาร)

ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานคร รองผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานคร และข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป สังกัดสำนักงานเขต หรือข้าราชการที่ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพมหานครมอบหมาย ให้เป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ในเขตท้องที่ของตน

หัวหน้าสถานีตำรวจนครบาล ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง ผู้อำนวยการกองตรวจสอบและปฏิบัติการ

กรมการค้าภายใน และข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป สังกัดกองตรวจสอบและปฏิบัติการ กรมการค้าภายใน ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษภาค ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค

ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้าราชการระดับชำนาญการขึ้นไป สังกัดกองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักการสอบสวนและนิติการ ผู้อำนวยการส่วน ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่าย หัวหน้างาน และข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป

สังกัดสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ผู้อำนวยการส่วน หัวหน้ากลุ่มงาน หัวหน้าฝ่าย หัวหน้างาน และข้าราชการตั้งแต่ระดับปฏิบัติการขึ้นไป สังกัดสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง และข้าราชการตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หรือผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มอบหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับในจังหวัดอื่น ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สรรพากรพื้นที่ นายอำเภอ

หัวหน้าสถานีตำรวจภูธร ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการพิเศษภาค ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้าราชการระดับชำนาญการขึ้นไป สังกัดกองป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

จ่าจังหวัด ป้องกันจังหวัด นิติกร ปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครอง ข้าราชการตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป สังกัดตำรวจภูธรจังหวัด ตำรวจภูธรภาค หรือกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด หรือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค หรือผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มอบหมาย ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ปฏิบัติการขึ้นไปสังกัดสำนักงานพาณิชย์จังหวัดที่ปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค และข้าราชการอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นผู้ช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่

พล.อ.อนุพงษ์ ยังลงนามประกาศ เรื่อง กำหนดระยะเวลาทำการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ กำหนดระยะเวลาทำการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ในเขตท้องที่ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ออกประกาศ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

นอกจากนี้ได้มีประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ และแบบเอกสาร เพื่อกำหนดผู้มีอำนาจในการออกหนังสือสอบถามและหนังสือเรียกมาให้ถ้อยคำ และการออกประกาศการแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บโภคภัณฑ์ และห้ามการยักย้ายโภคภัณฑ์ออกจากสถานที่เก็บ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์ การอนุญาตให้ยักย้ายโภคภัณฑ์ออกจากสถานที่เก็บ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพของโภคภัณฑ์ และการออกคำสั่งบังคับขาย คำสั่งยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์

รวมทั้งได้ออกประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดวิธีการขายโภคภัณฑ์ การยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ เพื่อกำหนดวิธีการ ราคา และปริมาณ ในการสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ขายโภคภัณฑ์ และการปิดประกาศสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ขายโภคภัณฑ์ การกำหนดวิธีการ ราคา และปริมาณ ในการยึดและบังคับซื้อโภคภัณฑ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่สำรวจพบว่ามีการกักตุน ในกรณีต่าง ๆ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป
พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อดำเนินการกับบุคคลบางกลุ่มที่ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการกักตุนสินค้า เพื่อให้เกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชนและประโยชน์สาธารณะ

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินมาตรการดูแลปัญหาการกักตุนสินค้า โดยใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 คู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เป็นประธาน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แบบนี้รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีทุกฉบับอย่างเข้มข้นป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานถือเป็นการบูรณาการมากที่สุดที่เคยมีมา

“ไม่ใช่การแย่งงานแต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีขอบเขตและมีจุดที่เสริมกัน เช่นว่าเมื่อเกิดการกักตุนขึ้น กฎหมายสำรวจการกักตุนจะให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่กว้างขวางมากกว่า โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกหมายเรียก ตรวจค้นเคหสถาน ยึดหรือสั่งให้ขายสินค้า ส่วน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะเน้นการห้ามไม่ให้ปฏิเสธหรือประวิงเวลาจำหน่ายสินค้า ไม่สามารถเข้าไปค้นเคหสถานได้หากพบผู้กระทำผิดที่กักตุนต่อจากนี้ต้องระวังโทษทั้ง 2 กฎหมายเลย โดยเฉพาะโทษกฎหมายสำรวจการกักตุนจะมีความรุนแรง เพราะเป็นกฎหมายอาญา โทษทั้งปรับ และถึงขั้นจำคุก”