นักวิชาการงัดงานวิจัย ชี้ควันบุหรี่มือสองที่ชายหาดสูงกว่าปกติถึง 27 เท่า

แฟ้มภาพ

นักวิชาการเผยประชาชนรับผลกระทบควันบุหรี่มือสองที่ชายหาดสูงกว่าปกติถึง 27 เท่า เห็นด้วยห้ามสูบในที่สาธารณะ

ความคืบหน้ากรณีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกมาตรการห้ามสูบบุหรี่บนชายหาด โดยจัดพื้นที่สูบไว้ให้เป็นการเฉพาะ นำร่องบนชายหาดแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 20 แห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม รศ.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในฐานะหัวหน้านักวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ปี 2560 (ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Public Health, Oxford University Press, available online September 2017) ซึ่งงานวิจัยนี้สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ทำการสำรวจการได้รับควันบุหรี่มือสองบริเวณชายหาดโดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก (2.5 ไมครอน) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองที่บริเวณที่พักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ผ้าใบ โดยจุดตรวจวัดอยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ในทิศทางใต้ลมของผู้สูบบุหรี่ ซึ่งผลการตรวจวัดใน 2 ชายหาด ได้พบปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยซึ่งกำหนดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. พบมีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหลายเท่าสูงถึงประมาณ 27 เท่า ดังนั้น คุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดมีชื่อเสียงซึ่งผู้คนมาพักผ่อน และที่สำคัญเป็นการแสดงถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองอย่างมาก

“จากการลงภาคสนามพบเด็กจำนวนมากอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ดังนั้น จึงเห็นด้วยกับมาตรการที่ ทส.กำลังเตรียมออกระเบียบห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณชายหาด เพื่อลดควันบุหรี่มือสองซึ่งทำลายสุขภาพด้วย” รศ.นิภาพรรณกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์