สธ. ยึดโมเดลปทุมธานี คุมโควิดตลาดบางแค เผยคืบหน้าไทยฉีดวัคซีนแล้ว 5 หมื่นราย

กระทรวงสาธารณสุข ชี้ยึดโมเดลตลาดพรพัฒน์ ปทุมธานี คุมโควิด ตลาดบางแค ปิดชั่วคราว-ตรวจคัดกรองค้นหาเชิงรุก-ฉีดวัคซีน-ออกใบรับรองเข้าออกตลาด พร้อมเผยตัวเลขฉีดวัคซีนล่าสุด 50,388 ราย คืบหน้าแล้ว 54% ของจำนวนวัคซีน

วันที่ 16 มีนาคม 2564 แถลงความคืบหน้าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 149 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 144 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อจากกรุงเทพมหานครถึง 100 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย สมุทรสาคร 34 ราย ปทุมธานี 4 ราย ราชบุรี 2 ราย นครปฐม 2 ราย เพชรบุรี 1 ราย รวมป่วยสะสมยืนยัน 27,154 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยตัวเลขสะสมผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 87 ราย

สำหรับสถานการณ์ ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพ โดยเฉพาะตลาดบางแคขณะนี้ได้ปิดตลาดทั้งหมดแล้วเป็นเวลา 3 วันตั้งแต่วันที่ 16-18 มีนาคม 2564 เพื่อทำความสะอาด และปรับปรุงสุขาภิบาล และดำเนินการจัดระเบียบเข้าออก ซึ่งมีโมเดลจากพื้นที่ตลาดพรพัฒน์ จ.ปทุมธานี ทั้งมีการตรวจคัดกรอง ฉีดวัคซีนแก่พ่อค้าแม่ค้าและแรงงาน พร้อมกับออกใบรับรองเข้าออกตลาด ที่ลงนามโดยสำนักงานเขต ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกกัก และมีการค้นหาเชิงรุกชุมชนหลังตลาดบางแคเป็นเวลา 1 สัปดาห์ มีรถตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน 2 คัน และชุมชนตรงข้ามตลาดบางแค ตรวจตัวอย่างด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลาย หลังจากนั้นมีการสุ่มตรวจเดือนละ 1 ครั้ง มีการเจาะเลือดผู้สัมผัสร่วมบ้าน โดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และจะมีการติดตามแรงงานต่างด้าวที่ทำงานพื้นที่ดังกล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวต่อว่า ในการประชุมของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับการควบคุมโรคเขตเมืองมีการรายงานผลการดำเนินงานการตรวจเชิงรุกของสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ได้ทำการตรวจเชื้อเชิงรุกร่วมกับหลายๆหน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.63-15 มี.ค.64 โดยได้มีการค้นหาเชิงรุกในเขตต่างๆ มีการคัดกรองสะสมไปแล้ว 16,107 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 222 ราย ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามพื้นที่ที่มีการดำเนินงานค้นหาเชิงรุก พบว่า เขตบางขุนเทียน 876 ราย เขตดินแดน 819 ราย และเขตบางแค 1,504 ราย และเมื่อแยกตามคลัสเตอร์ตามอีเว้นท์จะพบว่า อย่างคลัสเตอร์สมุทรสาคร 2,852 ราย คลัสเตอร์บางขุนเทียน/โรงงานรองเท้าและกลุ่มแรงงานต่างด้าว 1,394 ราย ส่วนคลัสเตอร์ตลาดบางแค 1,588 ราย

ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาให้กับนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และอาจารย์แพทย์ รวม 18 ท่าน ถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้าเราได้ชะลอการฉีดวัคซีนเพื่อรอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากแต่ละประเทศ และเมื่อตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยจึงฉีดได้ ซึ่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น มีความปลอดภัย โดยได้รับการยืนยันว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน สามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ได้ดีและมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยของโรคโควิด-19 หลังจากได้รับเข็มที่ 1 ไปแล้ว 22 วัน จะมีประสิทธิผลถึง 76% ยาวนานอย่างน้อย 90 วัน โดยเมื่อฉีดเข็มที่ 2 ห่างออกไป 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือน จะมีประสิทธิผลสูงถึง 81.39%

ซึ่งพบอีกว่าการทดลองทางคลินิกหรือการวิจัยในคนเปรียบเทียบข้อมูลผู้ที่ได้รับวัคซีนและผู้ที่ได้รับสารเลียนแบบวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิดป้องกันอาการรุนแรงถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้ 100% นอกจากนี้ยังมีผลศึกษาเพิ่มเติมหลังจากมีการนำไปใช้ในภาวะฉุกเฉิน พบว่าประเทศอังกฤษ ฉีดในคนที่อายุเกิน 80 ปีขึ้นไป สามารถลดอัตราการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมากถึงร้อยละ 80

สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ข้อมูลเฉพาะวันที่ 15 มีนาคมฉีดไปแล้ว 3,790 ราย รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 15 มีนาคมเป็น 50,388 ราย แบ่งเป็นบุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 29,634 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ 10,281 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 2,640 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 7,833 ราย

อย่างไรก็ตาม วันนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ถึง 54% ของจำนวนวัคซีนแล้ว โดยจังหวัดที่ฉีดวัคซีนได้ 100% ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และที่ใกล้จะครบ คือ นนทบุรี ปทุมธานี ส่วนกรุงเทพมหานครตั้งเป้าฉีดในโซนตะวันตก ก่อน และกำลังเร่งมือฉีดให้ถึงร้อยละ 20 เร็วๆ นี้