ศบค.ไฟเขียว 6 จังหวัด นั่งกินในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม 1 โต๊ะนั่งได้คนเดียว

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

ศบค.เตรียมไฟเขียว ให้พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด นั่งกินอาหารในร้านได้  25% ของพื้นที่  1 โต๊ะ นั้งได้แค่ 1 คน นั่งได้ถึง 3 ทุ่ม ซื้อกลับบ้านจนถึง 5 ทุ่ม แต่ยังห้ามดื่มสุรา-แอลกอฮอล์ในร้าน รอผลสรุปสุดท้าย 15 พ.ค.นี้

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุม ศบค.มีการประชุมถึงหลักการและหลักเกณฑ์ในการผ่อนคลาย โดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหาร เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ตามการผ่อนคลายดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับการระบาดของพื้นที่ด้วย

สำหรับข้อสรุปเบื้องต้น ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี,ปทุมธานี และสมุทรปราการ) จะอนุญาตให้มีการบริโภคอาหารในร้านได้ไม่เกิน 25% ของที่นั่ง นั่งกินในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. หรือ 5 ทุ่ม และห้ามจัดกิจกรรมหรือรวมคนเกิน 20 คน

“เพราะฉนั้นในพื้นที่เข้มงวดควบคุมสูงสุด 1 โต๊ะ 4 คน นั่งได้ 1 คน นั่งได้ถึง 3 ทุ่ม ซื้อกลับบ้านได้ถึง 5 ทุ่ม” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวสรุป

ส่วนพื้นที่ลดหลั่นลงมาสีแดง บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม และพื้นที่ควบคุมสีส้ม บริโภคได้ตามปกติ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนในร้านมากกว่า 50 คน แต่ทุกพื้นที่ควบคุม ยังห้ามเรื่องการดื่มสุราในร้าน  เพราะการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ เป็นแหล่งของการทำให้เกิดการติดต่อได้

ส่วนจังหวัดไหน อย่างไร วันนี้ยังมีการพูดคุยกันอยู่ ยังมีข้อที่จะสรุปให้ชัดเจนในขั้นตอนสุดท้าย และนำเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.

“พรุ่งนี้(15 พ.ค.) เราจะมาประกาศจังหวัดกัน เพราะฉนั้นตอนนี้เอาหลักเกณฑ์ กิจการ กิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป มาตรการต่าง ๆ ที่สามารถเปิดได้ก่อนไปก่อน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย ได้ส่งจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอแนวทางการยกระดับมาตรการขั้นสูงสุดด้านสุขอนามัยในร้านอาหาร ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สร้างแนวป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน ก็เพื่อหวังช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารใน 6 จังหวัด หลังมีนโยบายของภาครัฐออกคำสั่งห้ามรับประทานอาหารภายในร้าน ให้กลับมาเปิดบริการได้  ประกอบไปด้วย 5 แนวทาง คือ

1. นั่งทานอาหารมีระยะห่างและฉากกั้น (Social Distancing) นั่งได้ไม่เกิน 4 คนต่อโต๊ะ โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในโต๊ะไม่ให้ใกล้ชิดกัน เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 1-2 เมตร และมีฉากกั้น โดยหม้อต้ม หรือปิ้งย่าง และอุปกรณ์การทาน ต้องใช้ 1 ชุด ต่อ 1 คน

2. สะอาดคุมเข้มทุกจุดในเชิงรุกระดับร้านอาหารในโรงพยาบาล (Deep Cleaning) เช็ดและฆ่าเชื้อโต๊ะเก้าอี้ ด้วยน้ำยาประสิทธิภาพสูงทันที ทั้งก่อนลูกค้านั่ง และหลังลูกค้าใช้บริการ พนักงานต้องล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์เข้มข้นอย่างน้อย 70% ทั้งก่อนเตรียมอาหาร และก่อน-หลังให้บริการลูกค้า พนักงานต้องสวมถุงมือขณะให้บริการและเปลี่ยนถุงมือทุกๆ 1 ชั่วโมง เป็นต้น

3. คัดกรองเข้มงวดสูงสุด (Extra Screening) ทั้งลูกค้าและพนักงานทุกคนที่เดินเข้า-ออก ร้านต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และตรวจวัดอุณหภูมิทุกครั้ง และพนักงานจะต้องป้องกัน 2 ชั้น โดยใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น หรือใส่หน้ากากอนามัย 1 ชั้น และสวม Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ

4. ตรวจสอบพนักงานเคร่งครัด ระบุที่มาที่ไปได้ (Safety Tracking) โดยพนักงานร้านค้าทั้งหมดต้องระบุ Timeline ในการเดินทางและตอบแบบสอบถาม ก่อนเข้างานทุกวัน และจัดเก็บประวัติที่พักอาศัยของพนักงานทุกคนในศูนย์การค้า ส่วนลูกค้าให้ลงทะเบียน เพื่อสะดวกต่อการแจ้งข้อมูลลูกค้า หากมีกรณีติดเชี้อเกิดขึ้น

5. ส่งเสริมสังคมไร้สัมผัส (Touchless Experience) ด้วย Touchless เมนู และ e-Payment และหากมีการทอนเป็นเงินสด ต้องป้องกันการสัมผัส

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ, ผู้ประกอบการร้านอาหารและศูนย์การค้าต่างๆ จะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการปฏิบัติตามแผนยกระดับมาตรการนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อนำไปสู่การทบทวนมาตรการเพื่ออนุญาตให้ร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี,ปทุมธานี และสมุทรปราการ) สามารถกลับมาให้บริการแบบนั่งรับประทานในร้านได้อย่างปลอดภัยอีกครั้งโดยเร็วที่สุด