ขสมก.แจ้งพนักงานขับรถเมล์ สาย 511 และ 137 ติดเชื้อโควิด

รถเมล์ 511

ขสมก.แจ้งไทม์ไลน์ จุดเสี่ยง พนักงานขับรถ 2 สาย ติดเชื้อโควิด-19

วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ออกประกาศ พนักงานขับรถเมล์ สาย 511 และสาย 137 ติดเชื้อโควิด ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม  ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ  แจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 เพศชาย อายุ 46 ปี (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารช่วงกะบ่าย) ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้แจ้งให้ทราบว่า พนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานอยู่ที่บ้าน  เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการในเวลา 17.30 น.

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 3 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังต่อไปนี้

1.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข

2.พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน เมื่อวันที่ 14-24 พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์
ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้

วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70447 ตั้งแต่เวลา 18.05-21.50 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70465 ตั้งแต่เวลา 16.50-20.20 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00-11.00 น. พนักงานรับประทานอาหารที่ห้องของพนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 เพศหญิง อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ ตามที่องค์การได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ต่อมาเวลา 16.25-20.10 น. พนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70463 หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70466 ตั้งแต่เวลา 14.50-19.20 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน ณ พรสวรรค์คอนโด ตำบลท้ายบ้าน เวลา 16.00-17.00 น. พนักงานเดินทางไปซื้ออาหารที่ตลาดนัดท้ายบ้าน

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70450 ตั้งแต่เวลา 20.35-23.30 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70451 ตั้งแต่เวลา 18.25-22.25 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00-15.00 น. พนักงานได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ บริเวณพรสวรรค์คอนโด ตำบลท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาเวลา 17.10-21.10 น. พนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70468

วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70444 ตั้งแต่เวลา 16.20-20.10 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70463 ตั้งแต่เวลา 16.10-19.40 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 หมายเลข 3-70441 ตั้งแต่เวลา 14.50-19.20 น. ต่อมาเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท้ายบ้าน ได้แจ้งให้พนักงานไปตรวจหาเชื้อ ครั้งที่ 2  ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 พนักงานกักตัวอยู่ที่บ้าน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 – 15.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท้ายบ้าน ได้นำรถพยาบาลมารับพนักงานไปตรวจหาเชื้อ ครั้งที่ 2  ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสมุทรปราการได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ในเวลา 17.30 น.

3.พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถโดยสารนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)

นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศ สาย 511 จำนวน 10 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ คือ รถโดยสารหมายเลข 3-70447, 3-70465, 3-70463, 3-70466, 3-70450, 3-70451, 3-70468, 3-70444, 3-70463 และ 3-70441 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึงอู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร

4.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 8 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าว หยุดงาน
ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

นอกจากนี้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นำรถพระราชทานเข้ามาตรวจเชิงรุก เพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับประชาชน ณ โดมอเนกประสงค์บริเวณแฟลต 19 คลองเตย  โดยมีพนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 เพศชาย อายุ 51 ปี (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารช่วงกะบ่าย) เข้ารับการตรวจ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ว่า พนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานอยู่ที่บ้าน เพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม วัดสะพาน ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2564

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 4 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังต่อไปนี้

1.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข

2.พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 17 – 24 พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4014 ตั้งแต่เวลา 16.00-24.05 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานพักอาศัยอยู่ที่บ้าน ณ ชุมชนคลองเตย ล็อก 1  เวลา 10.00-12.00 น. พนักงานได้เดินทางไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ที่ห้างสรรพสินค้าแม็คโคร สาขาพระราม 4

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 179 หมายเลข 4-80252 ตั้งแต่เวลา 16.00-23.25 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4050 ตั้งแต่เวลา 16.20-24.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4039 ตั้งแต่เวลา 15.40-23.35 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4050 ตั้งแต่เวลา 14.40-21.35 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4077 ตั้งแต่เวลา 14.20-21.40 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที โดยพนักงานเริ่มมีอาการแสบโพรงจมูก และไม่ค่อยได้กลิ่น

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00-10.30 น. พนักงานได้เดินทางไปที่โดมอเนกประสงค์บริเวณแฟลต 19 คลองเตย เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ต่อมาเวลา 13.20 – 20.30 น. พนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4024  หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 วันหยุดประจำสัปดาห์ เวลา 13.15 น. พนักงานได้เดินทางไปที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และเดินทางกลับบ้าน ในเวลา 15.30 น.

วันที่ 26 พฤษภาคม 2564 พนักงานหยุดพักผ่อนหลังฉีดวัคซีน เวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ได้แจ้งให้ทราบว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปรักษา

วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.30 น. เจ้าหน้าที่นำรถพยาบาลมารับพนักงานไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลสนาม วัดสะพาน

3.พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถโดยสารนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศและรถโดยสารธรรมดา จำนวน 6 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ รถโดยสารปรับอากาศ สาย 137 หมายเลข 4-4014, 4-4050, 4-4039, 4-4077, 4-4024 และรถโดยสารธรรมดา สาย 179 หมายเลข 4-80252 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร

4.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานเก็บค่าโดยสาร จำนวน 6 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าวหยุดงาน
ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์  การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเดินทาง