กทม.เจอ 2 คลัสเตอร์ใหม่ ตจว.พบอีก 3 คลัสเตอร์ ลาม รง.อุปกรณ์การแพทย์

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ศบค.เจออีก 2 คลัสเตอร์ใหม่ในกทม. ที่เขตบางซื่อ และ ราชเทวี ขณะที่ต่างจังหวัดเจออีก 3 คลัสเตอร์ใหม่ที่เพชรบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ห่วงการติดเชื้อขยายวง ระบาดไปโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์มากขึ้น 

วันที่ 3 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลง สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ประจำวันว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 172,424,472 ราย อาการรุนแรง 89,935 ราย รักษาหายแล้ว 155,052,446 ราย เสียชีวิต 3,706,561 ราย

อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับหนึ่งยังเป็นสหรัฐอเมริกา จำนวน 34,154,305 ราย 2. อินเดีย จำนวน 28,440,988 ราย 3.บราซิล จำนวน 16,720,081 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,685,915 ราย 5. ตุรกี จำนวน 5,263,697 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 81 ของโลก มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 169,348 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศวันนี้ มีผู้ป่วยรายใหม่ 3,886 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 140,485 ราย หายป่วยแล้ว 90,778 ราย เสียชีวิตสะสม 1,052 ราย และข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 169,348 ราย หายป่วยแล้ว 118,204 ราย เสียชีวิตสะสม 1,146 ราย

และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 3,959,356 โดส

สั่งเฝ้าระวังคลัสเตอร์ 50 แห่ง

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ อันดับหนึ่งยังเป็น กทม. 995 ราย รวมสะสม 44,112 ราย รองลงมาเป็นเพชรบุรี 380 ราย นนทบุรี 336 ราย สมุทรปราการ 232 ราย ตรัง 92 ราย สมุทรสาคร 76 ราย ปทุมธานี 60 ราย ชลบุรี 46 ราย ฉะเชิงเทรา 40 ราย และอันดับ 10 มี 2 จังหวัดคือ นครปฐม และสระบุรี จังหวัดละ 31 ราย

“มีการพูดคุยกันและทำให้เห็นภาพเหตุของการระบาดต่างๆในแต่ละจังหวัด ซึ่งในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิดของกทม. ก็ได้นำเอาคลัสเตอร์ต่างๆมาจำแนกแยกแยะเพื่อวางแผนการทำงานในแต่ละเขต ซึ่งมีภาพสะท้อนจากทางสื่อว่าขอให้ลงรายละเอียด ซึ่งมีการสรุปจากที่ประชุมเมื่อเช้าโดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครได้ชี้แจงในที่ประชุม ไม่มีการปิดบัง แต่ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังในกทม.มี 50 แห่ง แยกเป็นพื้นที่ “กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด” 39 เขต กลุ่มเฝ้าระวัง 8 เขต และที่พบใหม่ 2 เขต

กทม.พบอีก 2 คลัสเตอร์ใหม่

ทั้งนี้กลุ่มพื้นที่ “กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด” เขตบางกะปิ ได้แก่ ตลาดบางกะปิ เดอะมอลล์บางกะปิ 2 แคมป์ก่อสร้างรามคำแหง ซอย 7 ห้างแม็คโคร ลาดพร้าว เคหะคลองจั่น เขตคลองเตย ได้แก่ตลาดคลองเตย ชุมชนแออัด แคมป์ก่อสร้างบริษัทอิตาเลียนไทย เขตดุสิต ไซต์ก่อสร้างอาคารรัฐสภา วงเวียน 22 วรจักร โบ๊เบ๊ เขตบางรัก แคมป์ก่อสร้างบริษัทฤทธา สีลม เขตดินแดง ตลาดห้วยขวาง แฟลตดินแดง แคมป์ก่อสร้างพรพระนคร เป็นต้น

ส่วนกลุ่มเฝ้าระวังมี 8 เขต ได้แก่ เขตบางเขน เป็นพื้นที่ของตลาดยิ่งเจริญ เขตบางซื่อเป็นโกดังสินค้าให้เช่า เขตประเวศ ร้านเฟอร์นิเจอร์ เขตหลักสี่ แคมป์ก่อสร้างบริษัทอิตาเลียนไทย เขตสาทร ชาวกินี เป็นต้น

และเขตที่พบใหม่ 2 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ แคมป์ที่พักคนงาน JWS และเขตราชเทวี เป็นแคมป์ยูนิคอร์น บริษัทยูนิเทค คอนสตัคชั่น (ตามตาราง)

“ขออนุญาตส่งข้อมูลชุดนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และเขตต่างๆที่อยู่ในกทม.ให้ร่วมมือกันในการช่วยกันเฝ้าระวัง ถึงแม้สถานที่จะเป็นชื่อเฉพาะ แต่เชื้อโรคไม่ได้ฝังตัวอยู่ในสถานที่ แต่เชื้อโรคอยู่กับตัวบุคคล ถ้าตัวบุคคลย้ายจากสถานที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค แต่จุดที่เราบอกเพื่อจะบอกว่ามีความชุกชุมของโรคอยู่ตรงนั้น คือไปตรวจและเจอ แต่ไม่ได้หมายความว่าที่ตรงนั้นไม่ปลอดภัย พออากาศถ่ายเท หรือเอาคนป่วยออกมา เชื้อโรคก็จะหายไป ” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

นอกจากนี้ก็มีการมอบหมายงานให้รองปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่งมีหลายคน เข้าไปดูแลเป็นกลุ่มเขต ซึ่งมีทั้งหมด 50 เขต เป็นหัวหน้าทีมของการควบคุมโรคผ่าน ผอ.สำนักงานเขตทั้งหลาย จะมีการประชุมกันอย่างใกล้ชิดและมีการนำความคืบหน้าของการจัดการมารายงานให้ประชาชนได้รับทราบ

ตจว.เจออีก 3 คลัสเตอร์ใหม่

ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด วันนี้มีรายงานกลุ่มคลัสเตอร์ที่จ.เพชรบุรีที่มีการกระจายออกไปแล้ว 11 จังหวัด จุดตั้งต้นคือโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และพบคลัสเตอร์ใหม่ที่เขาย้อย เป็นโรงงานรองเท้า พบผู้ป่วยรายใหม่ 20 ราย และที่จ.สมุทรปราการ ที่พระสมุทรเจดีย์ คลัสเตอร์ใหม่ เป็นโรงงานอะลูมิเนียม พบผู้ป่วยรายใหม่ 64 ราย และที่จ.ฉะเชิงเทรา อ.เมืองและ อ.บางน้ำเปรี้ยว เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ทันตกรรม เป็นคลัสเตอร์ใหม่ พบผู้ป่วย 6 ราย หรืออย่างที่ตรัง โรงงานผลิตถุงมือแพทย์

ห่วงลามโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์

“กรมควบคุมโรควิเคราะห์ว่ามีโรงงานผลิตถุงมือ โรงงานผลิตอุปกรณ์ทันตกรรม หรือหลายโรงงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการแพทย์ มีรายงานการติดเชื้อขึ้นมาแล้วหลายแห่ง เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับโรงงานเหล่านี้ เพราะเป็นแหล่งซัพพลายในการผลิตอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด สิ่งต่างๆเหล่านี้ มาตรการของทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องให้ความสำคัญกับโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายที่เชื่อมโยงมากับอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย เพราะจะมีผลต่อการควบคุมโรคด้วย”

สำหรับจังหวัดสีขาว มี 24 จังหวัด ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ราชบุรี พัทลุง กระบี่ ลำพูน ร้อยเอ็ด ลำปาง บุรีรัมย์ พิจิตร นครพนม ตราด น่าน สุโขทัย ชุมพร พะเยา อุตรดิตถ์ เลย แพร่ พังงา อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี มุกดาหาร บึงกาฬ สตูล