ป่วยไบโพลาร์ ใช้อ้างพ้นผิดได้หรือไม่ ?

โจ้

ทำความรู้จักอาการป่วย “ไบโพลาร์” ซึ่งกำลังถูกพูดถึงในคดี “ผู้กำกับโจ้” กรณีที่มีผู้สงสัยว่า จะถูกนำมาใช้อ้างให้พ้นผิดได้หรือไม่ ? 

วันที่ 31 สิงหาคม 2564 กรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ อดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ และ พวกอีก 7 คน ถูกจับกุม หลังมีพฤติการณ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ชีวิต

ต่อมามีกระแสข่าวว่า อดีตผู้กำกับโจ้ ป่วยเป็นไบโพลาร์ ทำให้มีความกังวลในสังคมว่าประเด็นนี้อาจถูกนำมาใช้ต่อสู้ในชั้นศาลได้หรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนผู้อ่านทำความรู้จักโรคดังกล่าว ก่อนจะหาคำตอบว่าในทางกฎหมายว่าจะสามารถใช้กล่าวอ้างเพื่อพ้นความผิดได้หรือไม่ ?

รู้จัก โรคไบโพลาร์

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ระบุว่า โรคโรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน เป็นโรคที่มีดัชนีการสูญเสียสุขภาวะด้านความพิการสูงเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มโรคจิตเวชและยังพบว่า ยังมีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตายมากกว่าโรคจิตเวชอื่น ๆ

อัตราการเกิดโรคครั้งแรก พบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี รองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี อีกทั้งโรคอารมณ์แปรปรวน ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณร้อยละ 70-90

อาการ 2 ขั้ว ในผู้ป่วยไบโพล่าร์

กรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลไว้ว่า อาการของโรคไบโพลาร์ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วหลัก โดยขั้วแรก คือ ภาวะคุ้มคลั่ง (Manic Episode) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดี สนุกสนาน คึกคักเกินเหตุ เชื่อมั่นในตัวเองสูง ขยันสุด ๆ ชอบพูดคุย เสียงดัง คิดเร็ว ทำเร็ว หรือฉุนเฉียว ก้าวร้าว

ในทางกลับกันอีกขั้วหนึ่ง คือ ภาวะซึมเศร้า (Depressive Episode) ผู้ป่วยจะขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าคิดตัดสินใจ ไม่ใส่ใจดูแลตัวเอง อ่อนเพลีย ป่วยบ่อย ๆ แต่หาสาเหตุไม่เจอ เก็บตัว ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หมดหวังกับชีวิต

ป่วยโรคไบโพล่าร์ ใช้อ้างพ้นผิดได้หรือไม่ ?

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ควบคุมดูแลและให้การคุ้มครองผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ ระบุไว้ว่า

“ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น”

“แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดเพียงใดก็ได้”

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่กระทำความผิด จะได้รับโทษเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่ที่ขณะที่ผู้ป่วยกระทำความผิดว่า มีอาการป่วยอยู่ระดับใด รุนแรงเพียงใด ซึ่งจะต้องไปพิสูจน์อีกครั้งชั้นศาล ตามการรายงานข้อมูลของทนายรัชพล ศิริสาคร ผ่านเฟซบุ๊กเพจ สายตรงกฎหมาย 

ขณะที่ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) เผยว่า กระแสข่าวที่อดีต ผกก.โจ้ ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์นั้น ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่าเป็นก่อนหรือหลัง มีการรักษาตัวหรือไม่ การจะมากล่าวอ้างแบบเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักในทางคดี

พล.ต.ต.สุวัฒน์ กล่าวถึงกรณีเรื่องคนนำคลิปเหตุการณ์ขณะทำร้ายผู้ต้องหาบนโรงพักมาปล่อยว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังไม่สามรถบอกได้ว่าเป็นคนในหรือคนนอก เพราะมีทั้งคนนอกอาจเอามาปล่อยก็ได้ แม้เรื่องจะเกิดขึ้นภายในโรงพัก แต่ยืนยันการสอบสวนหากไม่พบคนปล่อยคลิปก็สามารถดำเนินคดีได้ หากคลิปดังกล่าวไม่ตัดต่อก็ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญและสมบูรณ์ในการดำเนินคดี ตามรายงานของข่าวสด 

ประเมินอาการผู้ป่วยทางจิตก่อนต่อสู้คดี

พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 35 ภายใต้บังคับมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้พนักงานสอบสวนหรือศาลส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรับการตรวจที่สถานบำบัดรักษาพร้อมทั้งรายละเอียดพฤติการณ์แห่งคดี

เมื่อสถานบำบัดรักษารับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้แล้ว ให้จิตแพทย์ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตและทำ ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานสอบสวนหรือศาลว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่

แล้วรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีให้พนักงานสอบสวนหรือศาลทราบภายใน 45 วันนับแต่วันที่ได้รับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ และอาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 45 วันเพื่อประโยชน์ในการประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีให้สถานบำบัดรักษามีอำนาจเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือจำเลยจากสถานพยาบาลอื่นได้

แม้จะมีกฎหมายที่ใช้พิจารณาความผิดกับผู้ป่วยที่มีจิตไม่ปกติอย่างชัดเจน แต่คงต้องรอติดตามต่อไปว่า อดีตผู้กำกับโจ้ จะมีหลักฐานมายืนยันและนำมาต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่