เปิดเส้นทาง “วงแหวนโคราช” เชื่อมภาคกลาง-อีสาน เสร็จปี 2566

กรมทางหลวงยุคศักดิ์สยาม ถมหมื่นล้าน เติมโครงการวงแหวนโคราชเชื่อมภาคกลาง-อีสาน คาดแล้วเสร็จปี 2566

วันที่ 6 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดหัวเมืองหลักของภาคอีสาน และเป็นเมืองเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่มีประชาชนใช้เส้นทางไม่ขาดสาย

ปัจจุบันโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดนครราชสีมา มีโครงการที่เป็นไฮไลต์ทั้งสิ้น 3 โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท และช่วงที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 356 กม.

2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงิน 74,491 ล้านบาท

และ 3. โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่หมายเลข 290 หรือถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทางรวม 113 กิโลเมตร วงเงิน 12,758 ล้านบาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สภาพการจราจรในจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีความคับคั่งอย่างมาก เนื่องจากตัวจังหวัดเป็นเมืองท่องเที่ยว และมีประชาชนเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยมีวงแหวนมาก่อน มีเพียงทางเลี่ยงเมืองถนนมิตรภาพ แล้วไปทางจังหวัดขอนแก่นเท่านั้น

กรมทางหลวงจึงริเริ่มโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ หมายเลข 290 ขึ้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเริ่มก่อสร้างในส่วนใต้ของโครงการก่อน ปัจจุบันได้ขยายต่อเติมวงแหวนจนครบวงแล้ว นอกจากนั้น วงแหวนรอบเมืองเส้นนี้ ยังเชื่อมต่อกับโครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน – นครราชสีมา ด้วย โดยจะเชื่อมต่อที่บริเวณขามทะเลสอ เพื่อเลี่ยงไม่ต้องเข้าไปในตัวจังหวัดอีกต่อไป

สำหรับถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา แบ่งได้ทั้งสิ้น 7 ตอน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 ตอน ระยะทางรวม 53 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 ตอน ระยะทาง 60 กิโลเมตร ซึ่งงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ผู้รับจ้างครบทุกสัญญาแล้ว และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 รายละเอียดประกอบด้วย

ก่อสร้างสร้างแล้ว 4 ตอน

1.ทิศใต้ตอนที่ 1 ถ.วงแหวนรอบเมืองตอนที่ 1 ช่วง กม.0+000 – 17+941  ระยะทาง 17.941 กม. วงเงิน 314.974 ล้านบาท

2.ทิศใต้ตอนที่ 2 ถ.วงแหวนรอบเมืองตอนที่ 2 ช่วง กม.2+400 – 16+500  ระยะทาง 14 กม. วงเงิน 987.934 ล้านบาท

3.ทิศเหนือตอนที่ 1 ทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 กับ ทางหลวงหมายเลข 290  ช่วง กม.0+000 – 3+000 ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 1,394.8 ล้านบาท และแยกทางหลวงหมายเลข 2 – ทางหลวงหมายเลข 2068 ช่วง กม.0+000 – 9.111  ระยะทาง 9.11 กม. วงเงิน 991.4 ล้านบาท

4.ทิศเหนือตอนที่ 2 แยกทางหลวงหมายเลข 2068 – ทางหลวงหมายเลข 205 รวมทางแยกต่างระดับ ช่วง กม. 0+938 – 9+900  ระยะทาง 8.962 กม. วงเงิน 1,405.819 ล้านบาท

กำลังก่อสร้าง 3 ตอน

1.ทิศใต้ตอนที่ 3 ประกอบด้วย 4 ตอนย่อย

-แยกทางหลวงหมายเลข 2068 – ทางหลวงหมายเลข 205 รวมทางแยกต่างระดับ ช่วง กม.9+900 – 24+400 ระยะทาง 14.5 กม. วงเงิน 1,400 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 88.68% ล่าช้ากว่าแผนงาน 0.2%

-แยกทางหลวงหมายเลข 224 – ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนที่ 1 ช่วง กม.0+000 – 7+500/ 12+523 – 13+700 ระยะทาง 8.67 กม. วงเงิน 946 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 69.48% ล่าช้ากว่าแผนงาน 1.641%

-แยกทางหลวงหมายเลข 224 – ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนที่ 2 ช่วง กม.7+500 – 15+500 ระยะทาง 8 กม. วงเงิน 946.719 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 97.228% เร็วกว่าแผน 2.495%

-แยกทางหลวงหมายเลข 224 – ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนที่ 3 ช่วง กม.15+500 – 17+500 ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 1,400 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 28.698% เร็วกว่าแผน 3.608%

2.ทิศใต้ตอนที่ 4 ประกอบด้วย 2 ตอนย่อย

-แยกทางหลวงหมายเลข 2 – ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนที่ 1 ช่วง กม.1+121 – 9+239 ระยะทาง 8.118 กม. วงเงิน 798.5 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 7.321% ล่าช้ากว่าแผน 12.894%

-แยกทางหลวงหมายเลข 2 – ทางหลวงหมายเลข 226 ตอนที่ 2ช่วง กม.9+239 – 13+300 ระยะทาง 4.06 กม. วงเงิน 898.297 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 8.579% ล่าช้ากว่าแผน 10.335%

และ 3. ทิศเหนือตอนที่ 3 แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 205 – แยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ช่วง กม.1+234 – 16+141 ระยะทาง 14.907 กม. วงเงิน 1,273.452 ล้านบาท ความคืบหน้าอยู่ที่ 28.008% เร็วกว่าแผน 6.11%

นอกจากนี้ เพื่อเติมเต็มการเดินทางของประชาชน กรมมีแผนศึกษาการต่อขยายมอเตอร์เวย์สาย 6 จากนครราชสีมา – ขอนแก่น ระยะทาง 202 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 103,915 ล้านบาทด้วย โดยวางแผนจะต่อขยายไปให้ถึงจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย ในอนาคต

แต่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีข้อท้วงติงว่า แนวเส้นทางดังกล่าวมีหลายโครงการทับซ้อนกัน ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง  และถนนมิตรภาพ การทำมอเตอร์เวย์ต่อขยายจึงต้องดูความเหมาะสมก่อน เนื่องจากตามผลการศึกษาเดิม ปริมาณจราจรที่จะเดินทางต่อจากจังหวัดนครราชสีมาไปจนถึงจังหวัดหนองคายยังไม่มากนัก หากลงทุนอาจจะไม่คุ้มทุนได้ และถนนมิตรภาพในปัจจุบันยังรองรับปริมาณการเดินทางได้

ส่วนการดำเนินการตามนโยบายแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) นั้น นายสราวุธอธิบายว่า แผนนี้จะเป็นการสร้างแผนแม่บทใหม่ของมอเตอร์เวย์ทั้งประเทศ ซึ่งต่อไปจะอิงตามนี้ทั้งหมด แต่ยืนยันว่าการทำตามนโยบายดังกล่าวไม่ได้มีผลให้แผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายต่าง ๆ สะดุดลง แต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากการก่อสร้างวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาแล้ว ในจังหวัดเองยังมีโครงการอื่น ๆ ของกรมทางหลวงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 8 โครงการ วงเงินรวม 5,095.3 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการก่อสร้างขยาย 6 เลนทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงนครราชสีมา – ทางหลวงหมายเลข 2067 ระยะทาง 15.6 กม. วงเงิน 697.3 ล้านบาท

2.โครงการก่อสร้างขยาย 4 เลน ทางหลวงหมายเลข 206 ช่วง อ.พิมาย – บ้านหินดาด ระยะทาง 29 กม. วงเงิน 1,193 ล้านบาท

3.สะพานลอยข้ามทางรถไฟ ช่วงทางเลี่ยงเมืองห้วยแถลง วงเงิน 174 ล้านบาท

4.โครงการก่อสร้างขยาย 4 เลน ทางหลวงหมายเลข 226 ช่วง อ.เฉลิมพระเกียรติ – อ.จักราช – อ.ห้วยแถลง ระยะทาง 18.5 กม. วงเงิน 800 ล้านบาท

5.โครงการก่อสร้างขยาย 4 เลน ทางหลวงหมายเลข 205 ช่วง อ.หนองบัวโคก – อ.พระทองคำ ระยะทาง 17 กม. วงเงิน 659 ล้านบาท

6.สะพานลอยข้ามทางรถไฟ ช่วงทางเลี่ยงเมืองจักราช วงเงิน 289 ล้านบาท

7.โครงการก่อสร้างขยาย 4 เลน ทางหลวงหมายเลข 202 ช่วง อ.แก้งสนามนาง – อ.บัวใหญ่ ระยะทาง 21 กม. วงเงิน 899 ล้านบาท

8.ทางแยกต่างระดับเชื่อมมอเตอร์เวย์ M6 กับทางหลวงชนบท นม.1120 (ถ.สุรนารี 2) วงเงิน 384 ล้านบาท